17 มิถุนายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Aosfatos (บราซิล)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- ไวรัสโควิด 19 มีผลในการทำลายปอดเท่านั้น แต่ความเสียหายของปอดอาจส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในอื่นๆ เช่นตับ ไต และหัวใจ
- ส่วนอาการตับอักเสบของผู้ป่วยโควิด 19 ในบราซิล พบว่าสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าพยาธิมารักษาโรคอย่างผิดวิธี
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
เป็นข้อมูลเท็จจากการให้สัมภาษณ์โดย อัลเบิร์ต ดิกสัน จักษุแพทย์และรองผู้ว่าการรัฐรีอูกรันดีดูนอร์ตีของประเทศบราซิล โดยอ้างว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยโควิด 19 เกิดอาการตับอักเสบหลายรายในบราซิล มาจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ จนมีผู้นำคลิปวิดีโอไปแชร์ทาง Facebook กว่า 22,000 ครั้ง ก่อนจะถูก Facebook ตั้งสถานะให้เป็นข่าวปลอม
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
วิตอร์ ริเบโร ปาเอส นายแพทย์ด้านพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย University of Sao Paulo อธิบายว่า ไวรัส Sars-Cov-2 หรือโควิด 19 มีผลในการทำลายเซลล์ปอด ต่างจากไวรัสตับเขตร้อน (Hepatotropic Virus) เช่นไวรัสไข้เหลือง, ไวรัสเดงกี หรือไวรัสตับอักเสบ ที่มีผลในการทำลายตับ
ถึงแม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดตับอักเสบ แต่มีการวิจัยพบการเกิดรอยโรคหรือเนื้อเยื่อผิดปกติในเนื้อตับในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด 19 มากกว่าคนปกติ แม้ไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์จะไม่ใช่ตัวการทำลายตับโดยตรง แต่กระบวนการอักเสบของร่างกายจากโควิด 19 หรือโรคอื่นๆ อาจส่งผลเสียไปยังอวัยวะส่วนอื่น เช่นหัวใจหรือไต
วิตอร์ ริเบโร ปาเอส ชี้แจงว่าเมื่อปอดของผู้ป่วยโควิด 19 ถูกทำลาย ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน ตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ออกซิเจนปริมาณมากในการกำจัดสารพิษ จะทำงานผิดปกติหากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
เมื่อเดือนมีนาคม มีรายงานผู้ป่วยโควิด 19 จำนวน 5 รายที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายตับ และมีผู้ป่วยอีก 3 รายที่เสียชีวิตด้วยโรคตับ แต่การตรวจสอบของ Estadao Verifica ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของบราซิลพบว่า สาเหตุการป่วยและเสียชีวิตทั้งหมด มาจากการที่ผู้ป่วยเลือกใช้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าพยาธิชนิด Ivermectin ในการรักษาแทนการฉีดวัคซีน ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์แต่อย่างใด
อิลคา โบอิน ศาสตราจารย์ประจำศูนย์ปลูกถ่ายตับ โรงพยาบาล Unicamp Hospital das Clínicas อธิบายว่า ไวรัสโควิด 19 ส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่นการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แต่กรณีตับอักเสบมาจากการใช้ยารักษาด้วยตัวเองอย่างผิดวิธี
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.aosfatos.org/noticias/e-falso-que-variantes-do-novo-coronavirus-provocam-danos-graves-ao-figado/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter