9 มิถุนายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลว่า ไม่ควรบริโภคน้ำแข็งในขณะนี้เพราะหลายโรงงานมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้งเชื้อโควิด-19 สามารถอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็งได้นาน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่า จริงบางส่วน หากจะแชร์ต้องอธิบายเพิ่ม
บทสรุป : จริงบางส่วน หากจะแชร์ต่อควรอธิบายเพิ่ม
· ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำควรทานน้ำแข็งที่ได้รับการผลิตอย่างมีมาตรฐาน GMP เป็นน้ำแข็งสำหรับการบริโภค ไม่ใช่น้ำแข็งเพื่อการถนอมอาหาร
· เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่ได้นานขึ้นในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำและมีความชื้นมากขึ้น
· เชื้อไวรัสโควิด-19 หากอยู่บนพื้นผิวของน้ำแข็ง ถ้าอยู่ในพื้นที่แช่เย็นก็จะทำให้เกิดการคงตัวของไวรัส เชื้อจะคงตัว ไม่เกิดการเพิ่มจำนวน
· การจะติดเชื้อโควิด-19 ได้นั้น เกิดจากการที่เชื้ออยู่บนพื้นผิวของอาหาร หรือบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเมื่อมือเราไปสัมผัส แล้วเผลอมาป้ายหน้า ป้ายตา แคะจมูก หรือขยี้ตา ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แต่ไม่ได้ติดจากการที่เรารับประทาน
ข้อมูลที่ถูกแชร์
บนโลกโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูล “สสจ.เตือนงดกินน้ำแข็งก่อนเพราะโรงน้ำแข็งแทบทั้งนั้นมีผู้ติดเชิ้อและน้ำแข็งโควิตสามารถอยู่ในน้ำแข็งได้นานมาก”
“แม้แต่…”กินน้ำแข็ง” ก็”อาจ”ติดโควิดได้…ของกินอื่นๆ ก็เหมือนกันอาจมีเชื้อแฝงมาได้ง่าย, ถ้าคนขาย”ติดเชื้อ”…ระวังกันมากๆ ครับ คลัสเตอร์โรงน้ำแข็ง ปราจีนบุรี วันเดียวติด 22 ราย อายัดน้ำแข็งในห้องเย็นห้ามขายเด็ดขาด!”
Fact check : ตรวจสอบข้อมูล
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เชื้อจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการคงรูปของตัวน้ำแข็ง
โควิด-19 สามารถอยู่ในน้ำแข็งได้นานจริงหรือไม่ ?
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ประจักษ์แล้วว่า เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกจากร่างกาย จะขึ้นอยู่กับพื้นผิวอุณหภูมิและความชื้น โดยปกติเชื้อไวรัสจะอยู่ในเซลล์ของร่างกายคน เมื่อหลุดออกมาก็จะอยู่ไม่นาน ยิ่งถ้าอยู่บนพื้นผิวเรียบหรืออุณภูมิทั่วไปๆ ที่ไม่ได้มีความชื้น เชื้อจะอยู่ได้ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้ามีความชื้นเพิ่มมากขึ้น มีเรื่องของอุณหภูมิที่เย็นลงเชื้อจะอยู่ได้นานขึ้น และยิ่งพื้นผิวบางประเภทก็จะยิ่งทำให้เชื้ออยู่ได้นานขึ้น
หากเชื้อโควิด-19 ไปติดที่พื้นผิวน้ำแข็งแล้ว เชื้อจะอยู่ได้นานกี่ชั่วโมง?
นพ.สุวรรณชัย ระบุว่า หากเชื้อโควิด-19 ไปอยู่บนพื้นผิวน้ำแข็ง น้ำแข็งก็เป็นน้ำที่ทำให้แข็งตัว เมื่อถูกอุณหภูมิห้องก็จะละลาย มีความชื้นด้วยตัวเองก็จะทำให้ตัวเชื้ออยู่ได้นานขึ้น เพียงแต่เชื้อจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการคงรูปของตัวน้ำแข็ง เช่น หากอยู่บนพื้นผิวของน้ำแข็ง แต่อยู่ในพื้นที่แช่เย็นก็จะทำให้เกิดการคงตัวของไวรัส เหมือนเรานำอาหารไปแช่ในช่องแช่แข็งก็จะฟรีซไว้ทุกอย่าง เชื้อไวรัสก็เช่นกันเมื่อถูกแช่แข็ง เชื้อก็จะคงตัวซึ่งการคงตัวก็จะทำให้เชื้อไม่เกิดการเพิ่มจำนวน
ควรเลิกทานน้ำแข็งไปเลยหรือไม่?
“เชื้อโควิด-19 ไม่ได้เป็นเชื้อที่ติดต่อทางอาหารและน้ำ อีกทั้งองค์การอนามัยโลก CDC หรือในประเทศไทยเอง ก็มีข้อมูลระบุว่า ความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 จากอาหารที่เจือปนเชื้อ หรือน้ำดื่ม อยู่ในระดับต่ำมาก เพราะฉะนั้นหมายความว่า เราจะติดเชื้อโควิด-19 จากอาหารได้นั้น จะเกิดจากการที่เชื้ออยู่บนผิวของอาหารหรือบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ มือเราไปสัมผัส แล้วเผลอมาป้ายหน้า ป้ายตา แคะจมูก หรือขยี้ตา ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ แต่ไม่ได้ติดจากการที่เรารับประทาน
ถ้าน้ำแข็งผลิตมาอย่างสะอาดและปลอดภัย ผลิตอย่างได้มาตรฐาน และเราซื้อน้ำแข็งที่ผลิตสำหรับการบริโภคโดยตรง หมายความว่าน้ำแข็งเหล่านั้นก็ยังคงทานได้ แต่ถ้าน้ำแข็งผลิตจากโรงงานหรือแหล่งที่มีรายงานที่พบผู้ติดเชื้อ หรือเป็นน้ำแข็งที่ไม่ได้ผลิตเพื่อการบริโภคโดยตรง แต่เรานำมาบริโภคหรือผู้ประกอบการนำน้ำแข็งที่ไม่ได้ผลิตเพื่อการบริโภคมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ใช้ถนอมอาหาร แต่นำมาใช้ในการบริโภค หากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ปลอดภัย และไม่แนะนำให้บริโภค”นพ.สุวรรณชัย ระบุ
อธิบดีกรมอนามัย แนะเลี่ยงทานน้ำแข็งโม่หรือบด ควรเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดบรรจุถุงปิดสนิท
สำหรับผู้บริโภคควรเลี่ยงการซื้อน้ำแข็งโม่หรือบดมาบริโภค เนื่องจากในกระบวนการผลิตตั้งแต่การถอดซองออกมาเป็นก้อนน้ำแข็ง การตัดเป็นก้อนเล็กๆ จนถึงการโม่ บด บรรจุใส่ถุงหรือกระสอบเพื่อส่งขาย มีโอกาสสัมผัสกับคนงาน สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำแข็ง ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดบรรจุถุงปิดสนิท มีเลขสารบบอาหาร (อย.) ชัดเจนแทน จะมั่นใจและปลอดภัยกว่า เพราะมีกระบวนการทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งภายในเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดเป็นระบบปิด ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ซึ่งจะไม่มีคนงานเข้าไปเกี่ยวข้องจนกว่าจะบรรจุเสร็จ ส่วนร้านขนมหวาน ร้านน้ำแข็งใส หรือร้านเครื่องดื่มประเภทที่ต้องชงใส่น้ำแข็ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มาจากโรงงานน้ำแข็งนั้น ควรงดใช้น้ำแข็งชนิดโม่หรือบด ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำแข็งหลอดแทน
ชวนถนอมอาหารสดด้วยการใส่ถุงพลาสติก เลี่ยงการสัมผัสน้ำแข็งโดยตรง
ส่วนร้านอาหาร แผงลอย รถเร่ ที่นำน้ำแข็งโม่หรือบดมาใช้นั้น หากจะใช้น้ำแข็งเพื่อการถนอมอาหารให้นำอาหารสดใส่ถุงพลาสติกก่อน ไม่แนะนำให้นำอาหารสดมาสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง ก็จะเป็นการลดโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อที่อาจมากับน้ำแข็งได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออะไรก็ตาม
ยืนยันเชื้อโควิด-19 ตาย เมื่อใช้อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียล นานกว่า 5 นาทีในการประกอบอาหาร
ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลหากรับประทานอาหารที่ปรุงสุข เพราะเชื้อโควิด-19 เมื่อถูกความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียล และนานมากกว่า 5 นาทีขึ้นไป เชื้อจะตายหมด ถ้าเชื้อไวรัสอยู่บนพื้นผิวของอาหารสด ถ้านำมาปรุงด้วยความร้อน 70 องศาเซลเซียลขึ้นไปและนานมากกว่า 5 นาทีเชื้อตายหมด
ข้อปฏิบัติสำหรับโรงงานน้ำแข็งที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
เมื่อพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องปิดโรงงานเพื่อทำความสะอาด เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อ อยู่ในกระบวนการใดของการผลิต เบื้องต้นโรคโควิด-19 จะติดต่อได้ด้วยสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจจะไปอยู่บนพื้นผิวใดก็ได้ เช่น พื้นผิวของผลิตภัณฑ์ พื้นผิวของลูกบิดประตู จึงต้องได้รับการทำความสะอาด นอกจากนี้จะต้องควบคุมการเคลื่อนย้ายของพนักงานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังสถานที่อื่นๆ ทั้งนี้สิ่งที่โรงงานน้ำแข็งควรจะต้องทำมี 3 เรื่องคือ
1.การทำให้โรงงานถูกสุขลักษณะ ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานก่อนมาทำงานในระดับเข้มข้น โดยเจ้าของโรงงานประเมินผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ส่วนคนงานให้ประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้ามาทำงานทุกวันจะลดโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโควิคได้ ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานควรล้างและฆ่าเชื้อมือ การเปลี่ยนรองเท้าที่จะปฏิบัติงาน ไม่วางน้ำแข็งกับพื้น
2. การทำให้กระบวนการผลิต เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตที่เรียกว่าจี.เอ็ม.พี : GMP: Good Manufacturing Practice) ล้างและฆ่าเชื้อระบบผลิตน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอ
3. ต้องดูแลพนักงานในโรงงานให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี หากทำครบทั้ง 3 เรื่อง ก็จะมีความปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง
การสัมภาษณ์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงความปลอดภัยผู้บริโภคหลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/080664/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter