23 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของครีมกันแดดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าในครีมกันแดดมีสารก่อมะเร็งอย่าง เบนซีน เป็นส่วนประกอบ นำไปสู่การเรียกคืนครีมกันแดดที่มีเบนซีนเป็นส่วนประกอบอย่างแพร่หลาย

บทสรุป :
- เบนซีนที่พบในครีมกันแดดที่ถูกเรียกคืน เกิดจากการปนเปื้อนระหว่างการผลิต ไม่ใช่ตัวยาสำคัญในครีมกันแดด
- ผลกระทบจากเบนซีนต้องสะสมในร่างกายนานหลายปี
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
เบนซีน (Benzene) คือสารประกอบอินทรีย์ ใช้เป็นตัวทำละลายในการผลิตสารเคมีสำหรับภาคอุตสาหกรรม และเป็นส่วนประกอบในน้ำมันเชื้อเพลิง
องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เบนซีนเป็นสารก่อมะเร็งระดับที่ 1
การได้รับสารเบนซีนเป็นเวลานานทำให้เกิดผลกระทบต่อไขกระดูก อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางและมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
พบการปนเปื้อนเบนซีนในครีมกันแดด
เมื่อปี 2021 ทางการสหรัฐฯ ได้ส่งผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดและผลิตภัณฑ์ดูแลหลังออกแดดจำนวน 294 ชุดจาก 69 แบรนด์ ไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ
โดยพบว่า 78 ชุดหรือประมาณ 1 ใน 4 มีการปนเปื้อนเบนซีน ซึ่งส่วนใหญ่พบในครีมกันแดด
ครีมกันแดดครึ่งหนึ่งพบปริมาณเบนซีนต่ำกว่า 0.1 ppm
ครีมกันแดด 1 ใน 3 พบปริมาณเบนซีนระหว่าง 0.1-2 ppm
ครีมกันแดด 5% พบปริมาณเบนซีนเท่ากับหรือมากกว่า 2 ppm
องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ไม่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนเบนซีนมากกว่า 2 ppm จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ นำไปสู่การเรียกคืนครีมกันแดดที่ตรวจพบการปนเปื้อนเบนซีนเกินมาตรฐานในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี การอ้างว่าครีมกันแดดหลายยี่ห้อถูกเรียกคืนเพราะมีสารก่อมะเร็งเป็นตัวยาสำคัญเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง เพราะเบนซีนที่พบในครีมกันแดดเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างการผลิต แต่เบนซีนไม่ใช่ตัวยาสำคัญในครีมกันแดดตามที่กล่าวอ้าง
ผลกระทบจากเบนซีนต้องสะสมในร่างกายนานหลายปี
อันตรายจากการสัมผัสเบนซีนในชีวิตประจำวันมักมาจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น สถานที่ทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อเมื่อสะสมในร่างกายเป็นเวลาหลายปี
ข้อมูลจากหน่วยงาน UK Health Protection Agency ระบุว่า การสัมผัสเบนซีนปริมาณ 1 ppm ในสถานที่ทำงานเป็นเวลา 40 ปี ไม่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือความผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับเลือดในร่างกาย
ดร.เฮนรี ลิม ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังจากศูนย์การแพทย์ Henry Ford Health ย้ำว่า หลังจากการเรียกคืนครีมกันแดดที่ปนเปื้อนเบนซีนเมื่อปี 2021 ก็ไม่มีรายงานการตรวจพบเบนซีนในครีมกันแดดอีกเลย และไม่มีหลักฐานว่าการใช้ครีมกันแดดอย่างเหมาะสมจะส่งผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://fullfact.org/health/sunscreen-benzene-skin-cancer/
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/05/fact-check-all-mainstream-commercial-branded-sunscreens-are-not-toxic.html
https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2023/03/pcdnew-2023-03-31_03-53-00_835209.pdf
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter