23 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของครีมกันแดดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ตรวจพบตัวยาของครีมกันแดดในกระแสเลือดของผู้ใช้ นำไปสู่การอ้างว่าสารเคมีในครีมกันแดดที่เข้าสู่กระแสเลือดมีฤทธิ์รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ส่งผลต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย

บทสรุป :
- แม้พบตัวยาสำคัญจากครีมกันแดดในกระแสเลือดมากกว่าที่คาด แต่ FDA ไม่กังวลว่าการใช้ครีมกันแดดเป็นอันตรายแต่อย่างใด
- สาร Oxybenzone ที่พบว่าส่งผลต่อฮอร์โมน ปัจจุบันถูกห้ามใช้ในหลายประเทศและผู้ผลิตหันมาใช้สารตัวอื่นแทน
- สารอื่น ๆ ที่พบผลกระทบต่อฮอร์โมนมาจากการทดลองในหลอดทดลอง แต่ไม่พบจากการทดลองในมนุษย์หรือสัตว์แต่อย่างใด
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้อกล่าวหาอ้างถึงผลวิจัยขนาดเล็กขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อปี 2019 ที่พบตัวยาสำคัญ (Active Ingredients) ในกระแสเลือดของผู้ใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากกว่าที่เคยคาดไว้
แต่ FDA ยืนยันว่า การพบว่าตัวยาสำคัญของครีมกันแดดดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ไม่ได้หมายความว่าการใช้ครีมกันแดดไม่มีความปลอดภัย
ดร.อดัม ฟรีดแมน หัวหน้าภาควิชาโรคผิวหนัง มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ชี้แจงว่า การอ้างว่าครีมกันแดดไม่มีความปลอดภัยเพราะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริง การพบสารบางอย่างในกระแสเลือดยังบอกไม่ได้ว่าสิ่งนั้นปลอดภัยหรืออันตราย จนกว่าจะมีการศึกษาผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เดสมอนด์ โทบิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคผิวหนัง มหาวิทยาลัยคอลเลจดับลิน อธิบายว่า ก่อนจะตัดสินความปลอดภัยหรือผลเสียจากการใช้ครีมกันแดด วงการวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องตรวจสอบความปลอดภัยของส่วนผสมในครีมกันแดดอย่างรอบคอบ โดยคำนึงไปถึงผลจากการใช้ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
ความกังวลต่อสาร Oxybenzone ในครีมกันแดด
หนึ่งในตัวยาสำคัญในครีมกันแดดที่อ้างว่าส่งผลต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมน คือ Oxybenzone
มีการวิจัยที่พบว่า หนูทดลองที่ได้รับ Oxybenzone มีปัญหาความสมดุลของระดับฮอร์โมน
แต่กระนั้น ปริมาณ Oxybenzone ที่ส่งผลกระทบต่อหนูทดลอง หากเทียบกับปริมาณที่มนุษย์ได้รับจากการทาครีมกันแดดผสม Oxybenzone ที่บริเวณใบหน้า คอ และแขนเป็นประจำทุกวันแล้ว จำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดต่อเนื่องเป็นเวลา 277 ปีกว่าจะได้รับปริมาณ Oxybenzone ระดับเดียวกับที่ส่งผลกระทบต่อหนูทดลอง
อย่างไรก็ตาม ความกังวลของครีมกันแดดที่มีส่วนผสม Oxybenzone ส่งผลให้หลายประเทศจำกัดการใช้ Oxybenzone ในครีมกันแดด โดยสหภาพยุโรปลดระดับส่วนผสม Oxybenzone ในครีมกันแดดชนิดทาลำตัดจาก 6% เหลือ 2.2% แม้จะระบุว่าผลเสียจากครีมกันแดดผสม Oxybenzone ต่อสุขภาพยังไม่ชัดเจนก็ตาม
ส่วนประเทศไทยประกาศแบนการใช้และนำเข้าครีมกันแดดผสม Oxybenzone ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เนื่องจากผลกระทบต่อปะการัง
ความกังวลต่อ Oxybenzone ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคและวงการวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การผลิตครีมกันแดดสูตรไร้ Oxybenzone มากขึ้น ส่งผลให้การจำหน่ายครีมกันแดดที่ผสม Oxybenzone ในสหรัฐฯ ลดลงจาก 60% ในปี 2019 เหลือเพียง 13% ในปี 2023
ความกังวลของ Oxybenzone กับเด็ก
แม้จะไม่มีหลักฐานว่าการใช้ครีมกันแดดที่ผสม Oxybenzone ส่งผลเสียต่อระดับฮอร์โมนในเด็ก แต่ก็มีความกังวลเรื่องความเสี่ยงในระยะยาว
คำแนะนำของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) ระบุว่า หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่ผสม Oxybenzone เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาความสมดุลระดับฮอร์โมนในเด็ก แต่กระนั้นการป้องกันการถูกแดดเผาในเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดผสม Oxybenzone ก็ยังดีกว่าการไม่ป้องกันการถูกแดดเผาเลย
สารตัวอื่น ๆ
ตัวยาสำคัญในครีมกันแดดที่มีความกังวลว่าอาจส่งผลต่อความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายได้แก่ Homosalate และ Octinoxate
แม้จะพบว่าสารทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติก่อให้เกิดปัญหาต่อระดับฮอร์โมนในหลอดทดลอง แต่ไม่พบหลักฐานว่าครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Homosalate และ Octinoxate จะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/article/fact-check/sunscreen-protects-you-from-overexposure-to-the-sun-there-is-no-evidence-to-sug-idUSL2N2NR1WV/
https://fullfact.org/health/sunscreen-cancer-hormones-endocrine-disruption/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter