22 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของครีมกันแดดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่ามนุษย์ใช้ชีวิตกลางแสงแดดมาตั้งแต่โบราณ กระทั่งมีการผลิตครีมกันแดด ผู้คนก็เริ่มป่วยเป็นมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังชนิดใหม่อย่างเมลาโนมา (Melanoma) ที่เพิ่งจะพบผู้ป่วยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ช่วงเดียวกับที่ครีมกันแดดเริ่มเป็นที่นิยม

บทสรุป :
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาค้นพบก่อนครีมกันแดดนับพันปี
- หลักฐานยืนยันครีมกันแดดลดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
อย่างไรก็ดี โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาถูกตรวจพบก่อนการผลิตครีมกันแดดนานนับพันปี
ครั้งแรกที่มีการจดบันทึกเกี่ยวกับโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจากบันทึกของฮิปโปเครตีส บิดาการแพทย์ชาวกรีกโบราณซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 460-375 ปีก่อนคริสตกาล
เรเน เลนเนค แพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้คิดค้นหูฟังทางการแพทย์ เป็นผู้บัญญัติชื่อโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาและบรรยายเกี่ยวกับมะเร็งเมลาโนมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1804
ส่วนครีมกันแดดเริ่มพัฒนาเมื่อปี 1890 โดยครีมกันแดดสมัยใหม่จะถูกคิดค้นโดย ฟรานซ์ ไกรเทอร์ นักเคมีชาวสวิสช่วงปลายทศวรรษ 1940s
ความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังจากรังสียูวี
เมื่อปี 2009 องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้รังสียูวีทั้งจากแสงอาทิตย์และรังสียูวีสังเคราะห์เป็นสารก่อมะเร็งระดับที่ 1
ออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับรังสียูวีสูงที่สุดในโลก มีอัตราผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังสูงที่สุดในโลกเช่นกัน โดยหน่วยงาน Cancer Australia ระบุว่า ในบางพื้นที่ของประเทศ การตากแดดนานเกินไปคือสาเหตุการป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา 95% และมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมาอีก 99%
Melanoma มะเร็งผิวหนังที่อันตรายที่สุด
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มีสาเหตุจากการเติบโตแบบควบคุมไม่ได้ของเมลาโนไซต์ (Melanocyte) เซลล์ในชั้นหนังกำพร้าซึ่งทำหน้าที่สร้างสารสีเมลานิน
เมื่อได้รับรังสียูวี เมลาโนไซต์ผลิตเมลานินออกมาเพื่อป้องกันรังสียูวีจากแสงแดด ส่งผลทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น แต่หากได้รับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เซลล์เมลาโนไซต์ผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
มะเร็งผิวหนังเมลาโนมามักพบในประชากรผิวขาวมากกว่าประชากรผิวเข้ม การสำรวจโดยสมาคมโรคผิวหนังแห่งอเมริกา (American Cancer Society) พบว่า โอกาสป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาในชั่วชีวิตของคนผิวขาวอยู่ที่ 3% (1 ใน 33 คน) คนเชื้อสายฮิสแปนิก 0.5% (1 ใน 200 คน) และคนผิวดำ 0.1% (1 ใน 1,000 คน)
ข้อมูลปี 2024 ขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมารายใหม่ในปี 2024 มีถึง 80% ที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ผู้ป่วยรายใหม่ในเอเชียคิดเป็น 8% และในแอฟริกามีเพียง 2%
ประเทศที่พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามากที่สุดคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
สำหรับสหรัฐอเมริกาพบผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามากกว่าผู้หญิง 1.6 เท่า โดยผู้หญิงมักพบมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่บริเวณขา ส่วนผู้ชายมักพบมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่บริเวณที่แผ่นหลัง
ผู้ที่มีไฝจำนวนมากมีความเสี่ยงต่อมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา โดยพบว่า 1 ใน 4 มะเร็งเมลาโนมาเกิดจากไฝบนผิวหนัง
หากพบแต่เนิ่น ๆ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยโอกาสรอดชีวิตในช่วง 5 ปีสำหรับผู้ป่วยที่พบมะเร็งแต่เนิ่น ๆ อยู่ที่ 99% หากลุกลามไปบริเวณข้าง ๆ โอกาสรอดชีวิตจะอยู่ที่ 65% หากมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง โอกาสรอดชีวิตจะอยู่ที่ 25%
มูลนิธิโรคผิวหนังของสหรัฐฯ (Skin Cancer Foundation) ระบุว่า การถูกแดดเผาเพียงครั้งเดียวตอนเด็กหรือช่วงวัยรุ่น เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเมื่ออายุมากขึ้นถึง 2 เท่า
หลักฐานยืนยันครีมกันแดดลดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง
ผลการทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (RCT) ของงานวิจัยปี 2010 ทางวารสาร Journal of Clinical Oncology พบว่า การใช้ครีมกันแดดทุกวันเป็นเวลา 10 ปี ลดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาได้อย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยปี 2020 จากวารสาร Canadian Medical Association Journal ยืนยันว่า การใช้ครีมกันแดดลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังและป้องกันความเสียหายของรังสียูวีต่อผิวหนังเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/aug/01/instagram-posts/skin-cancer-didnt-emerge-in-the-last-60-years-it-d/
https://fullfact.org/health/sunscreen-cancer-hormones-endocrine-disruption/
https://healthfeedback.org/claimreview/unprotected-sun-overexposure-not-sunscreen-or-sunglasses-causes-sunburn-and-skin-cancer/
https://healthfeedback.org/claimreview/sunscreen-doesnt-cause-melanoma-most-melanoma-cases-excess-uv-radiation-sun/
https://en.wikipedia.org/wiki/Melanoma
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter