21 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันสุขภาพผิวอย่างครีมกันแดด คือความเชื่อว่าการใช้ครีมกันแดดเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เมื่อมีข้อมูลทางสถิติพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังมากขึ้นหลังครีมกันแดดเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย จนเป็นที่มาของข้อย้อนแย้งของครีมกันแดดหรือ Sunscreen Paradox
Sunscreen Paradox มีที่มาจากผลสำรวจที่พบว่า นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดเริ่มใช้อย่างแพร่หลายช่วงทศวรรษที่ 1980s เป็นต้นมา กลับพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังในกลุ่มผู้ใช้ครีมกันแดดมากกว่าประชากรทั่วไป จนเกิดข้อสรุปที่ผิดพลาดว่า ครีมกันแดดคือสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง
การสำรวจความเห็นโดยสถาบันวิจัยมะเร็ง Orlando Health Cancer Institute เมื่อเดือนมีนาคม 2024 พบว่า ชาวอเมริกันอายุมากกว่า 18 ปีจำนวน 1,000 ราย มีอยู่ถึง 14% ของกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 35 ปีที่เชื่อว่า การใช้ครีมกันแดดเป็นประจำส่งผลเสียต่อผิวหนังมากกว่าการตากแดด
รังสียูวีจากดวงอาทิตย์
รังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสีเหนือม่วง คือรังสีที่เกิดจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ แบ่งตามสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าได้ 3 ชนิด ได้แก่ UVC (คลื่นสั้น) UVB (คลื่นกลาง) และ UVA (คลื่นยาว)
รังสี UVC ถูกดูดซับในชั้นโอโซนและส่องมาถึงผิวโลกในปริมาณน้อยมาก
รังสี UVB บางส่วนจะถูกดูดซับในชั้นโอโซน แต่ยังคงส่งมาถึงพื้นโลก
รังสี UVA ซึ่งดูดซับในชั้นโอโซนได้น้อยที่สุด จะส่องมาถึงพื้นโลกปริมาณมากที่สุด
รังสี UVA และ รังสี UVB ส่งผลเสียต่อผิวต่างกัน
การแทรกซึมผิวหนังของรังสี UVA และ รังสี UVB มีระดับที่แตกต่างกัน
รังสี UVB ดูดซึมสู่ผิวหนังได้ตื้นกว่ารังสี UVA หากได้รับเป็นเวลานานจะทำลายผิวหนังกำพร้าทำให้ผิวไหม้ เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง
ส่วนรังสี UVA สามารถแทรกซึมสู่ผิวหนังชั้นใน หากได้รับปริมาณมาก จะทำให้เซลล์ผิวหนังเหี่ยวย่น และเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน
หน้าที่ป้องกันรังสียูวีของ Sunscreen
บทบาทการป้องกันรังสียูวีของครีมกันแดดประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 ประการได้แก่ SPF (Sun Protection Factor) และ PA (Protection grade of UVA)
SPF คือระดับการป้องกันรังสี UVB มีค่าตั้งแต่ 6 จนถึง 50+ ยิ่งค่า SPF สูงระดับการป้องกันผิวหนังจากรังสี UVB จะยิ่งมีประสิทธิภาพ
PA คือระดับการป้องกันรังสี UVA มีค่าตั้งแต่ + จนถึง ++++ ยิ่งค่า PA สูงระดับการป้องกันผิวหนังจากรังสี UVA จะยิ่งมีประสิทธิภาพ
หลักเกณฑ์การเลือกใช้ครีมกันแดด ขึ้นอยู่กับความเข้มของสีผิวของผู้ใช้ ระดับของรังสียูวีในแต่ละช่วงเวลา และระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ข้อเท็จจริงเบื้องหลัง Sunscreen Paradox
ดร.ไอวาน ลิทวินอฟ รองศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาโรคผิวหนัง มหาวิทยาลัยแม็คกิล ประเทศแคนาดา ได้ร่วมในงานวิจัย 2 ชิ้นเพื่อค้นหาคำตอบว่า ทำไมอัตราการป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังในกลุ่มคนที่ใช้ครีมกันแดดจึงมากกว่าคนทั่วไป
งานวิจัยชิ้นแรกศึกษาการป่วยเป็นมะเร็งผิวหนังของชาวแคนาดาที่อาศัยแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งมีสถิติการป่วยมะเร็งผิวหนังมากกว่าปกติและมีอัตราการใช้ครีมกันแดดมากกว่าคนปกติเช่นกัน โดยพบว่าแม้ชาวเมืองจะเข้าใจถึงภัยของรังสียูวีต่อปัญหาผิวหนัง แต่ก็ยังนิยมทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงฤดูร้อนเช่นเดิม
งานวิจัยชิ้นที่สอง พบว่าการใช้ครีมกันแดดเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังมากขึ้นถึง 2 เท่าในสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่ใช้ครีมกันแดด ไม่ได้เป็นผลจากครีมกันแดดโดยตรง แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะผู้ใช้ขาดความเข้าใจหรือเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการป้องกันแสงยูวีของครีมกันแดดมากเกินไป
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็คกิลพบว่า ผู้ใช้ครีมกันแดดมักเชื่อมั่นว่าตนเองได้รับการปกป้องจากรังสียูวีที่เพียงพอ จึงมักอยู่กลางแจ้งนานกว่าปกติ ส่งผลให้ได้รับปริมาณรังสียูวีปริมาณมากและเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง
ยังมีกรณีการใช้ครีมกันแดดไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือใช้ในปริมาณไม่เพียงพอต่อการป้องกันรังสียูวี ก็จะทำให้ผู้ใช้ครีมกันแดดเสี่ยงมะเร็งผิวหนังโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ ครีมกันแดดในอดีตยังเน้นลดความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังจากการป้องกันรังสี UVB เป็นหลัก ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดที่ไม่ป้องกันรังสี UVA จึงเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังอย่างมาก ภายหลังจึงมีการเสริมตัวยาสำคัญเพื่อป้องกันรังสี UVA ด้วย เช่น Titanium Dioxide, Zinc Oxide และ Avobenzone
สัดส่วนประชากรป่วยมะเร็งผิวหนังมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้มีประชากรป่วยโรคผิวหนังมากขึ้น ยังมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เมื่อประชากรสูงวัยมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ที่ความเสี่ยงจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังอายุน้อยมากขึ้น จากกระแสนิยมผิวสีแทนในประเทศตะวันตก ที่เชื่อว่าผิวสีแทนคือสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดี นำไปสู่ค่านิยมการอาบแดดเพื่อให้มีผิวสีแทน
การสำรวจความเห็นโดยสถาบันวิจัยมะเร็งสถาบันโรคผิวหนังแห่งอเมริกา (American Academy of Dermatology) ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2024 พบว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันรุ่นใหม่ในช่วง Generation Z ที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 ไม่รู้ว่าการผิวไหม้จากการตากแดดทำให้แก่ก่อนวัยและเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนัง ส่วนอีก 28% มีความเห็นว่า การมีผิวสีแทนสำคัญกว่าการป้องกันมะเร็งผิวหนัง
อันตรายจากค่านิยมผิวแทนยังรวมถึงความนิยมใช้เตียงอาบแดด (Tanning Bed) ซึ่งสถาบันโรคผิวหนังแห่งอเมริการะบุว่า การใช้เตียงอาบแดดก่อนอายุ 20 ปี เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาถึง 47% และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ใช้
ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังต่างลงความเห็นว่า ครีมกันแดดมีความปลอดภัยและจำเป็นต่อการป้องกันรังสียูวี โดยแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB, มีคุณสมบัติกันน้ำ และควรมีค่า SPF ที่เหมาะสมต่อกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น SPF 30 ขึ้นไปเมื่ออยู่กลางแจ้ง
แต่กระนั้น การใช้ครีมกันแดดยังเป็นวิธีป้องกันรังสียูวีที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการเลี่ยงแสงแดดด้วยการอยู่ในที่ร่ม หรือใส่ชุดป้องกันแสงแดด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.mcgill.ca/newsroom/channels/news/sunscreen-paradox-mcgill-university-researchers-warn-false-sense-security-352205
https://healthfeedback.org/claimreview/sunscreen-doesnt-cause-melanoma-most-melanoma-cases-excess-uv-radiation-sun/
https://healthfeedback.org/claimreview/unprotected-sun-overexposure-not-sunscreen-or-sunglasses-causes-sunburn-and-skin-cancer/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter