23 พฤษภาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของครีมกันแดดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าการใช้ครีมกันแดดคือสาเหตุของภาวะขาดวิตามินดี (Vitamin D Deficiency) เนื่องจากครีมกันแดดจะป้องกันกระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีบนผิวหนัง ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

บทสรุป :
- ครีมกันแดดไม่ยับยั้งการผลิตวิตามินดีจากแสงแดดได้
- การตากแดดเพื่อสังเคราะห์วิตามินดีใช้เวลาไม่นาน
- แพทย์ผิวหนังแนะนำให้รับวิตามินดีจากอาการแทนการตากแดดเพื่อป้องกันผิวเสีย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
บทบาทการสังเคราะห์วิตามินดีจากผิวหนัง
วิตามินดี เป็นทั้งวิตามินและฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกาย มีหน้าที่ดูดซึมแคลเซียม เสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน ปรับสมดุลของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระแสเลือด ทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกันเป็นไปอย่างปกติ
แหล่งวิตามินดีสำคัญของมนุษย์คือการสังเคราะห์รังสียูวีบีจากแสงแดดบริเวณผิวหนัง การไม่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ระดับวิตามินดีในร่างกายขาดแคลน ทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ รวมถึงสาเหตุการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งจากการสังเกตการณ์และทางระบาดวิทยา ไม่พบว่าการใช้ครีมกันแดดมีความสัมพันธ์กับภาวะขาดวิตามินดีแต่อย่างใด
แม้ตามทฤษฎีแล้ว การทาครีมกันแดดจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทาครีมกันแดดไม่สามารถป้องกันผิวจากรังสียูวีบีได้ทั้งหมด และรังสียูวีบีเพียงเล็กน้อย ก็เพียงพอสำหรับใช้สังเคราะห์วิตามินดีในปริมาณที่จำเป็นต่อร่างกายได้
ระยะเวลาตากแดดเพื่อสร้างวิตามินดี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในช่วงฤดูร้อน การรับแดดที่บริเวณใบหน้า แขน และมือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 5-15 นาที ก็เพียงพอให้ร่างกายผลิตวิตามินดีที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จะสามารถใช้เวลาตากแดดที่น้อยกว่านี้และได้รับปริมาณวิตามินดีที่มากยิ่งกว่านี้
อลิซ เดวีส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลสุขภาพของศูนย์วิจัยมะเร็ง Cancer Research UK อธิบายว่า รังสียูวีช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี แต่หากได้รับมากเกินไปก็มีความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เราจึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลของระยะเวลารับแสงแดด แต่กระนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการรับแสงแดดเพื่อสังเคราะห์วิตามินดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งชนิดของสีผิว พื้นที่รับแดด รวมถึงช่วงเวลาในแต่ละวันหรือในแต่ละฤดู แต่ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาตากแดดนานเหมือนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
ในทางตรงกันข้าม สถาบันโรคผิวหนังแห่งอเมริกา (American Academy of Dermatology) กลับมองว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยของการรับรังสียูวีเพื่อสังเคราะห์วิตามินดี โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง ไม่ว่าจากการตากแดดหรือการรับรังสียูวีสังเคราะห์ โดยแนะนำให้หันมารับวิตามินดีจากการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีแทน
วิตามินดีทางโภชนาการ
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดีได้แก่น้ำมันตับปลา และปลาที่อุดมไปด้วยไขมัน เช่น แซลมอน แมคคาเรล ซาร์ดีน และทูน่า
รองลงมาคือวิตามินดีจากไข่แดง ตับวัว และเนยแข็ง รวมถึงการรับวิตามินดีในรูปแบบวิตามินและอาหารเสริมวิตามินดี
วิตามินดีกับการป้องกันมะเร็ง
ตามข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Cancer Institute) ระบุว่า มีรายงานพบว่า วิตามินดีปริมาณสูงช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งจะสูงขึ้นในกลุ่มคนที่มีภาวะขาดวิตามินดี
แต่กระนั้น ไม่พบว่าระดับของการขาดวิตามินดีในร่างกายมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอดแต่อย่างใด นอกจากนี้การใช้อาหารเสริมวิตามินดีไม่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งทุกชนิด
ด้าน ศูนย์วิจัยมะเร็ง Cancer Research UK ชี้แจงว่า ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะขาดวิตามินดีกับความเสี่ยงโรคมะเร็ง และไม่มีหลักฐานว่าการใช้อาหารเสริมวิตามินดีลดความเสี่ยงมะเร็งเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/article/fact-check/sunscreen-protects-you-from-overexposure-to-the-sun-there-is-no-evidence-to-sug-idUSL2N2NR1WV/
https://healthfeedback.org/claimreview/sunscreen-doesnt-cause-melanoma-most-melanoma-cases-excess-uv-radiation-sun
https://healthfeedback.org/claimreview/unprotected-sun-overexposure-not-sunscreen-or-sunglasses-causes-sunburn-and-skin-cancer/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter