บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เตือนว่า การอาบน้ำด้วยสบู่เหลวอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น เพราะในสบู่เหลวมีสารอันตราย จริงหรือ ?
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ สารอันตรายที่มีการแชร์คือ SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในสบู่เหลว เพื่อให้เกิดฟอง มีการใช้ในปริมาณต่ำและสามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เพียงเล็กน้อย จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม การใช้สบู่เหลวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรืออาการแพ้ในบางราย ซึ่งอาจเกิดจาก SLS หรือน้ำหอมและสารเติมแต่งอื่น ๆ ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่าข้อมูลเรื่อง “สบู่เหลวอันตราย มีสารเคมีซึมลงผิวหนัง ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น” เป็นข้อมูลที่มักถูกส่งต่อและเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะการเตือนภัยเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบของสบู่เหลว

จากการสืบค้นย้อนหลัง พบว่าข้อความลักษณะนี้เคยถูกแชร์บนออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2552 ผ่านทางอีเมลที่ส่งต่อกัน และต่อมามีการแชร์อย่างกว้างบนสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวล จนมีการตั้งกระทู้สอบถามเพิ่มเติมในเว็บไซต์สนทนาอย่าง Pantip อีกด้วย
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.กิติยศ ยศสมบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า ความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นจากการผลิตสบู่เหลวในอดีต ที่การผลิตสบู่เหลวในบางรุ่นนั้นอาจมีการผสมสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ในปัจจุบัน มีข้อกำหนดที่เคร่งครัดที่ห้ามใช้สารเหล่านั้นในผลิตภัณฑ์แล้ว
อีกประเด็นที่อาจเกิดความเข้าใจผิดกัน นั่นคือ สาร SLS (Sodium Lauryl Sulfate) ที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ซึ่งผู้ใช้งานเกิดความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายและเสียชีวิตเร็วขึ้น
ข้อมูลจาก ดร.ไฉน น้อยแสง คณบดีคณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในสบู่เหลวและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายชนิด เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ไปจนถึงครีมบางชนิด โดยเป็นสารที่ทำให้เกิดฟอง และมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยมีมาตรฐานในการควบคุมการใช้ที่ชัดเจน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.กิติยศ ยศสมบัติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดยืนยันว่า SLS ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ดร.ไฉน น้อยแสง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในกระบวนการผลิตสาร SLS อาจมีสารปนเปื้อนชื่อว่า หนึ่ง, สี่ – ไดออกเซน (1,4-Dioxane) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีระบบสุญญากาศที่สามารถกำจัดสาร หนึ่ง, สี่ – ไดออกเซน ออกจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุญาตให้ใช้สาร SLS เป็นส่วนผสมได้เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่เพียงพอและสามารถเชื่อถือได้ว่าเป็นสารที่มีความปลอดภัย
ผลกระทบของสาร SLS ต่อผิวหนัง
ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านให้ข้อมูลว่า ในด้านการทดลอง สาร SLS อาจมีผลกระทบต่อเซลล์ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในสบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสาร SLS นั้นมีปริมาณน้อย ไม่เข้มข้นมากจนเกิดอันตรายต่อเซลล์ และดูดซึมเข้าสู่ผิวน้อยมาก แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้สบู่เหลวคือ “การระคายเคือง” หรืออาการแพ้ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสาร SLS เอง ที่ทำให้ผิวแห้งจนเกิดการระคายเคืองหรือเกิดจากน้ำหอมและสารเติมแต่งอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์ โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบส่วนผสมบนฉลากของผลิตภัณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่ตนเองแพ้ได้
สบู่ก้อน หรือ สบู่เหลว แบบไหนปลอดภัยกว่ากัน ?
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า “สบู่ก้อน” เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างไขมันและด่าง ต่างกับ “สบู่เหลว” ที่มีส่วนประกอบของสารลดแรงตึงผิว แต่สบู่ทั้งสองชนิดมีความสามารถในการชะล้างคราบสกปรกได้เหมือนกัน ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้สบู่เหลวหรือสบู่ก้อนได้ตามความชอบของแต่ละคน
เลือกใช้สบู่อย่างไรให้ปลอดภัย ?
– ทดสอบก่อนใช้งาน : ก่อนเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ควรทดสอบโดยการทาทิ้งไว้ที่ท้องแขนข้ามคืน หากไม่มีอาการแพ้ก็สามารถใช้ได้
– ล้างออกให้หมด : เมื่อใช้สบู่เหลวควรล้างสบู่ออกให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้ฟองสัมผัสกับผิวนานเกินไปจนเกิดการระคายเคือง
– เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน : ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
23 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เรียบเรียง โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
อ้างอิง
ชัวร์ก่อนแชร์ : สบู่เหลวอาบแล้วตายเร็ว จริงหรือ?
สบู่เหลวอันตรายกว่าสบู่ก้อน จริงหรือไม่ ?
https://dis.fda.moph.go.th/detail-checkSureShare?id=888
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter