ปวดหัวแค่ไหน ถึงควรใช้ยา จริงหรือไม่ ยิ่งปวดหัว ยิ่งกินยา ยิ่งติดยา และทำให้ยิ่งปวดหัวมากกว่าเดิม
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อ.นพ.ประกิต อนุกูลวิทยา อายุรแพทย์โรคระบบประสาท คลินิกโรคปวดศีรษะ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรรมการชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
ผู้ป่วยไม่อยากกินยามากเพราะกลัวติดยา แต่เป็นความเข้าใจผิดของผู้ป่วย เนื่องจากเป็นยาคนละตัวกัน
กรณีของผู้ป่วยปวดศีรษะไมเกรน ยามี 2 ชนิดคือ ยาแก้ปวด และยาป้องกัน ไม่ทำให้ติด เป็นตัวยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยปวดศีรษะที่ถี่ขึ้นด้วย
กินยาแก้ปวดศีรษะมาก ๆ จะติดหรือไม่ ?
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ถ้าเป็นยาแก้ปวดสามารถทำให้เกิดโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป (Medical overuse headache : MOH) เกิดจากการใช้ยาแก้ปวด เมื่อกินยามากขึ้นก็จะทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นด้วย เช่น
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) สามารถบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดจากข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และใช้เป็นยาลดไข้
กลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) ยาที่ช่วยแก้อาการปวด บวม แดง ร้อน และลดการอักเสบโดยตรงของร่างกาย
กลุ่มยาโอพิออยด์ (Opioids) มีบทบาทมากในการรักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดเรื้อรัง
กลุ่มยาทริปแทน (Triptans) เป็นกลุ่มยาแก้ปวดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและอาการอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากไมเกรน เช่น อาการคลื่นไส้ หรืออาการไวต่อแสงและเสียงมากผิดปกติ เป็นต้น
กลุ่มยาเออร์กอต (Ergotamine) เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin)
มียาอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาป้องกัน ที่แพทย์สั่งให้กินเพื่อลดความถี่ของอาการปวดศีรษะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยากันชัก กลุ่มยาต้านเศร้า ยาลดความดันที่สามารถใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะ กลุ่มยาต่าง ๆ เหล่านี้ใช้เพื่อลดความถี่ของอาการปวดศีรษะ
ยาป้องกันอาการปวดศีรษะแพทย์อาจจะให้กินนาน 6 เดือน หรือ 1 ปี เมื่อความถี่ของอาการปวดศีรษะลดลง แพทย์ก็จะลดขนาดยา โดยให้ผู้ป่วยกินยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์
บางคนซื้อยาแก้ปวดกินเอง ควรสังเกตอะไร เพื่อการใช้ยาแก้ปวดอย่างปลอดภัย
กรณีปวดศีรษะไมเกรน ผู้ป่วยบางคนใช้วิธีนอนพัก หรือกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล
สำหรับวิธีการประเมินประสิทธิภาพของยาแก้ปวด ว่ากินแล้วได้ผลหรือไม่ เช่น กินยาแก้ปวดไปแล้ว 2 ชั่วโมงก็ยังไม่หายปวด ต้องกินยาถี่มากขึ้น กินยาสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็ยังไม่หายปวด แนะนำให้ไปพบแพทย์ดีกว่า เพราะยิ่งกินยาแก้ปวดถี่และบ่อยมาก จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยามากเกินความจำเป็น
ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่สมองสามารถใช้ยาแก้ปวดนิดเดียวก็สามารถลดอาการปวดได้ แต่ถ้าใช้ยาแก้ปวดไปเรื่อย ๆ สมองจะชินชายาแก้ปวดที่กินประจำ ทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนไป นั่นคือ เดิมกินยาแก้ปวดแล้วทำให้อาการปวดหายได้ แต่กลับทำให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้นไปอีก
การใช้ยาแก้ปวดโดยรวม ๆ จึงไม่ควรใช้เกิน 10 วันต่อเดือน
“ปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป” สังเกตอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยและคนใกล้ตัวควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
1. อาการปวดศีรษะจะมีความถี่ขึ้น เมื่อใช้ยานานขึ้น
2. ยาแก้ปวดที่ใช้มีประสิทธิภาพลดลง ที่เคยกินแล้วหายปวดกลับไม่หายปวด
3. อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นภายหลังยาแก้ปวดหมดฤทธิ์
4. ผู้ป่วยจะต้องใช้ขนาดยาแก้ปวดที่เพิ่มขึ้น
5. ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะขณะนอนหลับร่วมด้วย เนื่องจากขาดยาในช่วงเวลานอนและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
ใช้ยาแก้ปวดอย่างปลอดภัย ?
เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยาแก้ปวด ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
1. ควรหยุดหรือลดปริมาณของยาแก้ปวดที่ใช้เกินขนาด
2. ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดภาวะเครียดหรือปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ
3. ในผู้ป่วยที่มีโรคปวดศีรษะอยู่เดิม เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการใช้ยาและป้องกันอาการปวดศีรษะที่เหมาะสม
ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะ ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย มีการรณรงค์เพิ่มความตระหนักรู้ของผู้ป่วยโรคปวดศีรษะ ใช้ยาให้ถูกต้อง 3R (Right drug, Right dose, Right duration)
1. Right drug ใช้ยาถูกต้อง เหมาะสม
2. Right dose ใช้ยาขนาดถูกต้อง
3. Right duration ใช้ยาเวลาที่เหมาะสม
การใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการใช้ยาและปลอดภัยด้วย
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปวดหัว ยิ่งกินยา ยิ่งติดยา จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter