14 ตุลาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์เผยแพร่ในหลายประเทศ โดยอ้างว่าผู้ชายไม่ควรกินเนื้อวัวหรือเนื้อไก่ เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจนสูง หากได้รับปริมาณมากจะทำให้ผู้ชายสูญเสียความสมดุลของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย นำไปสู่อาการ Gynecomastia ทำให้ผมร่วง ศีรษะล้าน สูญเสียศักยภาพในการสร้างกล้ามเนื้อ และทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
บทสรุป :
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อวัวไม่มากพอจะทำให้เกิดโรค Gynecomastia
- เนื้อจากวัวที่ฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อเร่งการเติบโตไม่เป็นอันตราย
- มีอาหารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าเนื้อวัวหลายชนิดและไม่เป็นอันตราย
- ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในไก่
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Gynecomastia เต้านมผู้ชายจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ
Gynecomastia คืออาการที่ร่างกายของผู้ชายสูญเสียความสมดุลของระดับฮอร์โมนเพศ เมื่อร่างกายได้รับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศชายทั้งแอนโดรเจนและเทสโทสเทอโรนในกระแสเลือดลดลง ก่อให้เกิดการยับยั้งการสร้างกล้ามเนื้อ และไปกระตุ้นการขยายตัวของเนื้อเยื่อบริเวณเต้านม สาเหตุมาจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการใช้ยา การดื่มสุรามากเกินไป หรือจากความเครียด
อย่างไรก็ดี ผมร่วงไม่ใช่หนึ่งในอาการจากโรค Gynecomastia สาเหตุของผมร่วงมีปัจจัยจากกรรมพันธุ์และความเครียดสะสมเป็นตัวกระตุ้น
แม้ Gynecomastia จะมีผลจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป แต่การได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเนื้อสัตว์ไม่ทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับที่เป็นอันตราย
ดร. แบรดลีย์ อันนาวอลต์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาต่อมไร้ท่อ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การที่ผู้ชายจะได้รับผลกระทบจากฮอร์โมนเอสโตรเจน จำเป็นจะต้องได้รับ Estradiol ฮอร์โมนหลักในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อวัน
ในเนื้อวัวและเนื้อไก่น้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยกว่า 0.005 ไมโครกรัม เท่ากับว่ามนุษย์ต้องกินเนื้อวัวและเนื้อไก่วันละพันกิโลกรัม ถึงจะได้รับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
การใช้ฮอร์โมนในวัวไม่เป็นอันตราย
การทำปศุสัตว์ในปัจจุบันนิยมใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวัว ด้วยวิธีฝังฮอร์โมนที่บริเวณหูของวัว จากนั้นฮอร์โมนจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่วัวอย่างช้า ๆ ซึ่งปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้เลี้ยงวัวได้รับการควบคุมโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เพื่อให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
บทความจาก Michigan State University Extension ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท เปรียบเทียบปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนระหว่างเนื้อวัวที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตเจนกับอาหารชนิดต่าง ๆ พบว่า แม้เนื้อวัวที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงกว่าเนื้อวัวที่ไม่ใช้ฮอร์โมน แต่ก็ยังมีปริมาณที่น้อยกว่าที่พบในอาหารหลายชนิด ทั้ง ผัก ไข่ และ น้ำนม
ในปริมาณ 3 ออนซ์เท่ากัน เนื้อวัวที่ไม่ใช้ฮอร์โมนมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 0.85 ยูนิต ส่วนเนื้อวัวที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 1.2 ยูนิต
ส่วนไข่ไก่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 94 ยูนิต ส่วนเต้าหู้มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 19,306,004 ยูนิต
ขณะเดียวกัน ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ได้รับจากอาหาร ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ร่างกายมนุษย์ผลิตได้เอง
ร่างกายผู้ชายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉลี่ยวันละ 136,000 นาโนกรัม ส่วนสตรีมีครรภ์จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเฉลี่ยวันละ 5,00,000 นาโนกรัม ดังนั้นการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการบริโภคเนื้อวัว จึงไม่มีผลต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกายแต่อย่างใด
ส่วนการใช้ฮอร์โมนในการเลี้ยงไก่ ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ข้ออ้างเรื่องการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในฟาร์มไก่จึงไม่เป็นความจริง
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดเต้านมในผู้ชายจาก Gynecomastia
นอกจากการรับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณสูงแล้ว ปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรค Gynecomastia ในผู้ชายเช่นกัน ทั้งการกินของหวาน ไขมันอิ่มตัว อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะการเผาผลาญอาหารของร่างกายผิดปกติ จนเกิดไขมันสะสมในอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงบริเวณหน้าอก ทำให้เต้านมของผู้ชายมีขนาดใหญ่ขึ้นนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2024/mar/01/instagram-posts/fact-checking-misinformation-about-estrogen-in-mea/
https://www.amaris-b.com/blog/can-animal-hormones-cause-gynecomastia
https://extension.sdstate.edu/hormones-beef-myths-vs-facts
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter