กรุงเทพฯ 9 พ.ค.-ทีมสุดซอย บุกตรวจโรงงานเหล็กใน จ.ชลบุรี หลังได้รับการร้องเรียนเหล็กสร้างบ้านหักเป็น 2 ท่อน พบเป็นโรงงานเถื่อน ลักลอบผลิตเหล็ก IF พร้อมยึดเหล็กของกลาง 1.3 หมื่นตัน ด้านกูรูเหล็กหนุนยกเลิกเตา IF เหตุเสี่ยงผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ยันไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลน
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ คุณพระช่วย.. ตามล่าเหล็กห่วย เจอ “โรงงานผี” ภารกิจสุดซอย ที่ชลบุรี.. รมว.เอกนัฏ สั่งตรวจโรงเหล็กIF ตามเบาะแสประชาชนทันที เพราะซื้อเหล็กเส้นมาใช้สร้างบ้าน แต่หักเป็น2ท่อนเมื่อถูกดัดเหล็กเส้นข้ออ้อยนี้ ยี่ห้อBNS กรรมวิธีผลิตIF ขนาด16มม. ผลตรวจสอบกับสถาบันเหล็ก ตกค่าโบรอนเกินมาตรฐาน มีผลให้ขาดความเหนียวจนเปราะง่าย เมื่อถึงที่หมาย ต้องร้องอห. ที่ไม่ใช่โอ้โห เพราะพบเป็น ”โรงงานผี“ ผลิตซะใหญ่โต แต่ไม่ได้ขอประกอบกิจการ! ผู้ผลิต “บีเอ็นเอสเอส สตีล” ไม่ได้ขอจดประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่ปี62 เข้าข่ายลักลอบผลิตโดยมิได้อนุญาต ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีความเชื่อมโยงกับนายทุนข้ามชาติ นายเย่ โย่วหลิน ซึ่งทีมสุดซอย ประสานคณะกรรมการแข่งขันการค้า(กขค.) ตรวจสอบขยายผลต่อไป จบด้วยยึดอายัดเหล็ก 1.3หมื่นตัน พร้อมดำเนินคดี5ข้อหาหนัก จำคุกอ่วมๆ 9ปี พร้อมส่งให้ ผู้ว่าการนิคมฯ พิจารณาเพิกถอนกิจการถาวร สอบจนท.รัฐที่ละเลยให้เกิดเรื่องเหล่านี้ซ้ำซาก ..พอทีเถอะครับ

ด้านนายวิกรม วัชระคุปต์ กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กมานานกว่า 50 ปี ได้แสดงความเห็นสนับสนุนแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace – IF) สำหรับการผลิตเหล็กในประเทศไทย โดยระบุว่าเตา IF มีข้อจำกัดสำคัญในการควบคุมคุณภาพของเหล็กให้ได้มาตรฐานตลอดชิ้นงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในโครงสร้างอาคาร โดยเฉพาะในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน ในอดีต มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทยกำหนดให้การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างสามารถใช้ได้เฉพาะกระบวนการถลุงเหล็กหรือเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace – EAF) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีการปรับมาตรฐานให้สามารถใช้เตา IF ได้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศจีนมีนโยบายปิดโรงงาน IF เพื่อควบคุมมลภาวะจากวัตถุดิบคุณภาพต่ำ ทำให้โรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย
“แม้เตา IF จะเหมาะสมกับการผลิตเหล็กชนิดพิเศษ เช่น เหล็กหล่อ หรือสแตนเลส ซึ่งต้องการการควบคุมทางเคมีอย่างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับการผลิตเหล็กก่อสร้างที่ใช้เศษเหล็กทั่วไปเป็นวัตถุดิบ เตา IF ไม่สามารถกำจัดสารเจือปนในระดับที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับเตา EAF ซึ่งอาจส่งผลให้เหล็กที่ได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ และไม่สามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบไว้” นายวิกรม กล่าว
ล่าสุดในการประชุมสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าวอย่างเข้มข้น และเน้นย้ำว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยต้องมุ่งสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง แข็งแรง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณเหล็กที่ใช้ และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในระยะยาว ความมั่นใจในคุณภาพของเหล็กจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่ใช้เตา EAF มีศักยภาพในการควบคุมสารปนเปื้อนได้ดีกว่า โดยสามารถปรับคุณภาพของน้ำเหล็กให้เหมาะสมกับการผลิตเหล็กเส้นที่มีความแข็งแรงและทนทาน เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย
ผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยี EAF มีจำนวนและกำลังการผลิตเกินพอรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทย อีกทั้งการผลิตเหล็กยังครอบคลุมหลากหลายประเภท ไม่จำกัดเฉพาะเหล็กเส้น ดังนั้น การยกเลิกเตา IF จะไม่ส่งผลให้สินค้าเหล็กขาดแคลนสินค้าเหล็กอย่างใด.-517.-สำนักข่าวไทย