28 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่ามีงานวิจัยที่พบว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer มีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็งหรือ Turbo Cancer หลังพบหนูทดลองเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในเวลาไม่กี่วัน
บทสรุป :
- Turbo Cancer ไม่มีจริง
- หนูที่ตายจากมะเร็งได้รับวัคซีน Pfizer ปริมาณมากกว่ามนุษย์ 600 เท่า ไม่สามารถเทียบผลที่จะเกิดกับมนุษย์ได้
- หนูทดลองอีก 70 ตัวที่ได้รับวัคซีนเหมือนกัน ไม่มีตัวไหนป่วยเป็นมะเร็ง
- งานวิจัยมากมายไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับมะเร็ง หรือวัคซีนโควิด-19 กับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้อความที่กล่าวอ้าง นำมาจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Frontiers in Oncology เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบของวัคซีน mRNA กับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ทีมวิจัยได้แบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 14 ตัว โดยกลุ่มทดลองได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer ผ่านทางหลอดเลือดดำ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกเป็นน้ำเกลือ
แม้ไม่พบอาการข้างเคียงในหนูส่วนใหญ่ แต่พบว่ามีหนูทดลอง 1 ตัวเสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด B-cell lymphoma (DLBCL) หลังจากรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 2 ไปเพียง 2 วัน
อย่างไรก็ดี แซนเดอร์ เอนส์ นักวิจัยด้านโรคหลอดเลือดหัวใจ มหาวิทยาลัยแอทเวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม ผู้ร่วมวิจัยยืนยันว่า งานวิจัยไม่ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีน mRNA กับโรคมะเร็ง โดยย้ำว่าทีมวิจัยได้ทดลองวัคซีนกับหนูไปกว่า 70 ตัวแล้ว และไม่พบว่ามีหนูตัวอื่น ๆ ที่แสดงอาการของโรคมะเร็งอีกเลย
ปริมาณวัคซีนมากกว่ามนุษย์ 600 เท่า
เดวิด กอร์สกี ศัลยแพทย์โรคมะเร็ง และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวย์น สเตท สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์ว่า ความแตกต่างระหว่างวัคซีนที่ใช้ในการทดลองกับที่ใช้ในมนุษย์ นอกจากใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดดำแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแล้ว ปริมาณวัคซีนที่ใช้ยังสูงกว่าปริมาณที่ใช้ในมนุษย์อย่างมาก
วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer สูตรสำหรับผู้ใหญ่จะมีปริมาณ 30 ไมโครกรัม โดยคนที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 70 กิโลกรัม จะได้รับปริมาณวัคซีน 0.000428 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กรัม
ส่วนหนูทดลองซึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 24 กรัม ได้รับปริมาณวัคซีนที่ 6 ไมโครกรัม เท่ากับว่าหนู 1 ตัวได้รับปริมาณวัคซีน 0.25 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กรัม
เมื่อเทียบปริมาณวัคซีนต่อน้ำหนักตัวแล้ว หนูทดลองได้รับวัคซีนมากกว่ามนุษย์ถึง 600 เท่า จึงไม่อาจนำผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในหนูทดลอง มาเปรียบเทียบกับผลจากการฉีดวัคซีนในมนุษย์ได้
สัญญาณมะเร็งในหนูก่อนการทดลอง
เดวิด กอร์สกี ยังพบความผิดปกติของหนูทดลองที่ป่วยตายจากมะเร็ง โดยพบว่าหนูตัวดังกล่าวมีน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติตั้งแต่ช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนได้รับวัคซีน จึงเป็นไปได้อย่างมากว่า หนูน่าจะป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่ก่อนการทดลองแล้ว
หนูสายพันธุ์ที่เอื้อต่อการเป็นมะเร็ง
ซานเจย์ มิชชา นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโควิด-19 และโรคมะเร็ง มหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่า หนูที่ใช้ในการทดลอง (BALB/c) เป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน และเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นสายพันธุ์ที่นิยมใช้ทดลองในงานด้านพยาธิวิทยาเนื้องอก
ซานเจย์ มิชชา ยังย้ำว่า วิธีการฉีดเข้าหลอดเลือดและปริมาณวัคซีนโดสสูง คือข้อจำกัดของงานวิจัยที่ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนในมนุษย์ได้
สมมติฐานเรื่องวัคซีนกับมะเร็ง
ในอดีต วงการวิทยาศาสตร์เคยตั้งสมมติฐานว่า การทำงานของวัคซีนอาจมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
แต่งานวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว บางครั้งยังพบว่าวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงอีกด้วย
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cancer Epidemiology, Biomarkers & Prevention เมื่อปี 2022 ศึกษาประวัติการรับวัคซีนโรคตับอักเสบเอและบี วัคซีนไข้เหลือง และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 2,461 และกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 2,253 ราย โดยผลวิจัยไม่พบว่า การฉีดวัคซีนเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และบางรายยังพบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงอีกด้วย
วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA กับอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโต
เมื่อต้นปี 2023 นักวิจัยชาวเยอรมันได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA กับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หลังพบผู้ป่วยมะเร็ง 2 รายที่พบมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ในแขนข้างเดียวกับที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การฉีดวัคซีนที่หัวไหล่อาจไปกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณรักแร้ของแขนข้างเดียวกัน
ทีมวิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกับกลุ่มตัวอย่าง 313 รายในโรงพยาบาล 2 แห่ง โดยพบว่าก่อนช่วงการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวจำนวน 16 ราย และหลังจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 พบผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวจำนวน 11 ราย ซึ่งถือว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ได้รับการยืนยันว่า วัคซีนไม่ใช่สาเหตุของโรคเช่นกัน
วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็ง
แม้ในการทดลองทางคลินิกระยะแรก การทดลองวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA กับผู้ป่วยมะเร็งยังมีอย่างจำกัด แต่ภายหลังมีการศึกษาความปลอดภัยของวัคซีนกับผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น โดยพบว่าอาการข้างเคียงจากวัคซีนระหว่างคนทั่วไปและผู้ป่วยมะเร็งไม่มีความแตกต่างกัน และไม่พบว่าวัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้มะเร็งกลับมากำเริบ หรือทำให้ผู้ป่วยมะเร็งอาการทรุดลงแต่อย่างใด
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องระดับปานกลางถึงรุนแรง รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งเลือดชนิดต่าง ๆ ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 จำนวนโดสมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการรักษาทำให้ผู้ป่วยได้รับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนน้อยกว่าปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่นผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อน เนื่องจากประสิทธิผลของวัคซีนจะลดต่ำลงจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่เพราะวัคซีนมีปัญหาด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2023/08/covid-19-vaccines-have-not-been-shown-to-cause-turbo-cancer/
https://healthfeedback.org/claimreview/claim-mouse-study-shows-covid-19-vaccine-causes-turbo-cancer-misinterprets-study-findings/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter