23 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Tiktok ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่ายอดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มสตรีอเมริกันที่อายุต่ำกว่า 45 ปี เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในปี 2022 ส่วนยอดการตรวจพบมะเร็งเต้านมยังเพิ่มถึงอีก 10 เท่าในปี 2023 อีกด้วย
บทสรุป :
- เป็นการนำเสนอข้อมูลเท็จ จากการอ่านช่วงอายุผู้ป่วยมะเร็งเต้านมผิด
- สมาคมมะเร็งสหรัฐฯ ประเมินว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นปีละ 0.5%
- แต่อัตราการเสียชีวิตจะลดลง เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับการคัดกรองมะเร็งมากขึ้น
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker พบว่า ข้อมูลดังกล่าว เกิดจากการนำเสนอข้อมูลสถิติที่ผิดพลาดของผู้โพสต์คลิป Tiktok จนถูกนำไปแชร์ต่ออย่างผิด ๆ ในเวลาต่อมา
ข้อมูลดังกล่าวนำมาจากการประเมินยอดการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ในกลุ่มประชากรแต่ละช่วงวัย โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society : ACS) ซึ่งเป็นการคาดการณ์ยอดผู้เสียชีวิตล่วงหน้า ไม่ใช่ยอดผู้ป่วยหรือเสียชีวิตที่แท้จริง
อ่านช่วงอายุผิด
ผู้โพสต์อ้างว่ายอดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอเมริกันอายุต่ำกว่า 45 ปี เพิ่มจากปี 2021 เกือบ 2 เท่าในปี 2022 (จากปีละ 26,510 เคสในปี 2021 เพิ่มเป็น 47,550 เคส ในปี 2022)
แต่แท้จริงแล้ว ตัวเลขในปี 2022 ไม่ใช่ยอดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอเมริกันอายุต่ำกว่า 45 ปี แต่คือผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงอเมริกันอายุต่ำกว่า 50 ปี
ส่วนยอดปี 2023 ที่อ้างว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่เพิ่มจากปี 2021 เป็น 10 เท่าหรือเพิ่มเป็น 297,790 เคส แท้จริงแล้วคือการคาดการณ์ยอดผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในทุกช่วงอายุ ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงอายุต่ำกว่า 45 ปีตามที่กล่าวอ้าง
อายุยิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงมะเร็ง
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงอายุ 80 ปี โดยช่วงอายุ 20 ปีจะมีความเสี่ยง 1 ใน 1,439 ราย ช่วงอายุ 30 ปีจะมีความเสี่ยง 1 ใน 204 ราย ช่วงอายุ 40 ปีจะมีความเสี่ยง 1 ใน 63 ราย ช่วงอายุ 50 ปีจะมีความเสี่ยง 1 ใน 41 ราย
NCI ยืนยันว่า จากการรวบรวมข้อมูลการทดลองทางคลินิกและจากการใช้วัคซีนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยังไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่ยอดผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นหลังปี 2021 ซึ่งตรงกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปทั่วโลก เป็นเพราะในปี 2020 จำนวนการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งลดลงอย่างมากจากการล็อกดาวน์ ส่งผลทำให้การพบผู้ป่วยลดลงในปี 2020 จนเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งก็กลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
หญิงสาวเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นปีละ 0.5%
ข้อมูลจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000’s เป็นต้นมา ในกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ปี จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นปีละ 0.5% ปัจจัยเสี่ยงมาจากวิถีชีวิตของผู้หญิงในปัจจุบัน
ทั้งการมีลูกตอนอายุมากหรือน้ำหนักตัวขึ้นหลังหมดประจำเดือน
อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะลดลง ปัจจัยสำคัญมาจากการรักษาที่ดีขึ้น และสังคมเห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น นำไปสู่การตรวจหามะเร็งแต่เนิ่น ๆ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.factcheck.org/2023/06/scicheck-tiktok-video-mangles-american-cancer-society-breast-cancer-estimates/
https://healthfeedback.org/claimreview/breast-cancer-cases-havent-doubled-us-women-under-45-despite-social-media-claims/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jun/29/instagram-posts/claim-about-breast-cancer-deaths-wildly-misstates/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter