ทุกวันนี้พาสเวิร์ดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่การล็อกอินเข้าโซเซียลมีเดีย ช็อปปิ้งออนไลน์ ดูหนังผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง โอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทางดิจิทัลอีกหลายอย่าง ล้วนต้องใช้พาสเวิร์ดด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการตั้งรหัสผ่านหรือพาสเวิร์ดที่รัดกุมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่รู้หรือไม่ว่า รหัสผ่านที่คนใช้มากที่สุดในโลก และครองแชมป์ติดต่อกันหลายปี กลับเป็นตัวเลขเรียงต่อกัน อย่าง 123456 ซึ่งเป็นรหัสผ่านที่ทั้งจดจำง่ายและแฮกได้ภายในไม่ถึง 1 นาที ทำให้วันรหัสผ่านโลก ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการตั้งรหัสผ่านที่รัดกุม และวันนี้ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate จะพาทุกคนไปรู้จักกับที่มาของวันพาสเวิร์ดโลกกันค่ะ
จุดเริ่มต้นของวันพาสเวิร์ดโลก
วันพาสเวิร์ดโลก (World Password Day) เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2556 โดยบริษัท Intel จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีแรกของเดือนพฤษภาคม ในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญในการตั้งค่ารหัสผ่านที่ปลอดภัย เนื่องจากปัญหาภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลบัญชีรั่วไหล หรือการโดนแฮกบัญชีออนไลน์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานของบริษัท NordPass (2023) เผยให้เห็นว่า 86% ของการโจมตีทางโลกไซเบอร์ได้มาจากข้อมูลส่วนตัวที่ถูกขโมยมา โดยมีทั้ง บัญชีธนาคารออนไลน์ อีเมล และรหัสผ่าน ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายบ่อยที่สุดบน Dark Web แต่คนจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะใช้รหัสผ่านที่ง่าย มักเลือกใช้เป็นชุดตัวเลขเรียงกันหรือใช้เป็นรหัสผ่านที่ระบบกำหนดค่าเอาไว้ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยด้วยรหัสผ่านที่คาดเดายากเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
10 รหัสผ่านที่คนไทยใช้มากที่สุดในปี 2023 หากใครยังใช้อยู่ รีบเปลี่ยนด่วน !
1. 123456
2. Aa123456
3. admin
4. 12345678
5. 123456789
6. password
7. Ar123455
8. aa123456
9. 12345
10. 123456Za
จะเห็นได้ว่ารหัสผ่านหลายอันดับข้างต้น เป็นแค่ตัวเลขเรียงต่อกัน หรือคำที่ระบบตั้งไว้ในตอนแรก เสี่ยงต่อการโดนแฮกได้ง่าย ซึ่งรหัสผ่านที่ดีควรมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่
2. ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์เล็ก
3. ตัวเลข
4. สัญลักษณ์พิเศษ
โดยองค์ประกอบเหล่านี้ ควรจะคละอยู่ในรหัสผ่าน และควรมีความยาว 12 ตัวขึ้นไป
ร่วมฉลองวันพาสเวิร์ดโลกด้วยการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย
ชัวร์ก่อนแชร์ ขอชวนทุกคนมาร่วมฉลองวันพาสเวิร์ดโลก ด้วย 7 เทคนิคในการตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัยกันค่ะ
1. รหัสดี มีเอกลักษณ์
เราสามารถตั้งรหัสผ่าน
จากข้อมูลส่วนตัวได้ แต่ต้องแต่งให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เช่น การนำเบอร์โทรศัพท์มาตั้ง แล้วทำให้ตัวอักษรเดายากขึ้น
โดยนำตัวอักษรอย่าง ชื่อของเรา มาแทรกเข้าไปอยู่ระหว่างตัวเลข
หรืออาจใช้ประโยคที่เราชอบ ชื่อสถานที่ที่เราชอบ
แล้วเปลี่ยนตัวอักษรเป็นตัวเลข สัญลักษณ์
เช่น เปลี่ยนจาก I เป็นเครื่องหมายตกใจ
เปลี่ยนจากตัว O เป็นเลขศูนย์
2. อักษรซ่อนรหัสลับ
cyfence.com ได้แนะนำการตั้งรหัสผ่าน
จากค่าหรือตัวอักษร 2 – 3 ตัว
และวางมือที่ปุ่ม QWERTY Keyboard
เลียนแบบการลากเส้นเป็นตัวอักษร
เช่น ตัวอักษร V ให้กดปุ่มดังนี้
ก็จะได้รหัสเป็น 1qazse4
หรือหากต้องการให้ซับซ้อนขึ้น
ให้กดคละตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็กสลับกันก็ได้ค่ะ
3. สลับโหมดแป้นพิมพ์
ใช้การพิมพ์รหัสผ่านเป็นประโยคภาษาไทย
แล้วให้คีย์บอร์ดของเราอยู่ในโหมดภาษาอังกฤษ
แต่ไม่ควรใช้คำทั่วไปที่มีในพจนานุกรม
เพราะแฮกเกอร์สามารถใช้โปรแกรมการเดารหัสผ่าน
เปรียบเทียบจากฐานข้อมูลคำศัพท์ได้
4. กระหยิ่มใจใช้บทเพลง
การตั้งรหัสผ่านด้วยตัวอักษรแรกของท่อนเนื้อเพลงที่ชอบ
และจำได้ง่าย
5. เพ่งรหัส เสริมเรื่องราว
เป็นเทคนิคที่แนะนำโดยนักวิศวคอมพิวเตอร์
จาก Carnegie Mellon University
ให้ลองคิดชุดคำเป็นเรื่องราวว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน
อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง เป็นเรื่องสนุกๆ ที่เราสามารถจำได้
แล้วแปลงเป็นรหัส
6. เสริมกล่าว ชื่อแพลตฟอร์ม
เวลาตั้งรหัสไม่ควรตั้งให้ซ้ำกันสำหรับบัญชีแต่ละแพลตฟอร์ม
เพราะถ้าเจาะเข้าบัญชีไหนได้ ก็อาจลามไปทุก ๆ บัญชีได้
แต่จะให้แตกต่างกันทุกอันก็อาจจำยากเกินไป
เราอาจใช้การขึ้นหัวหรือปิดท้ายรหัสด้วยชื่อแพลตฟอร์มนั้น ๆ
เช่น รหัสที่ใช้สำหรับ facebook
ก็จะเป็น รหัสผ่านแล้วตามด้วย FB
หรือถ้าเป็น LINE
ก็จะเป็นรหัสผ่านเดิม แต่ตามด้วยคำว่า LINE
7. พร้อมปรับ ตามวันที่
รหัสผ่านควรเปลี่ยนอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง
และเพื่อความจำง่าย
อาจใช้วันเดือนปีที่ตั้งรหัสผ่านครั้งล่าสุดเข้าไปอยู่ในรหัสด้วย
ซึ่งหากเมื่อไหร่เราลืม หรือกดผิดไป
ก็สามารถดูได้ว่า เราเปลี่ยนรหัสล่าสุดเมื่อไหร่
เช่น เปลี่ยนรหัสเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565
ก็จะเป็นรหัสผ่านของเราแล้วตามด้วย 06032565
ใกล้ถึงยุคจุดจบของรหัสผ่าน ! Passkeys คืออะไร ?
ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการยืนยันตัวตนอย่าง Passkeys ขึ้นมา ช่วยให้ผู้ให้งานสามารถเข้าสู่ระบบได้ง่ายและปลอดภัยกว่าการใช้รหัสผ่านแบบเดิม โดยเป็นการยืนยันตัวตนด้วยชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ สแกนใบหน้า หรือสแกน QR CODE ผ่านเว็บไต์หรือแอปพลิเคชันที่รองรับระบบ Passkeys ได้ทันที ซึ่งวิธีนี้จะมีความปลอดภัยมากกว่าการตรวจสอบสิทธิ์สองปัจจัย ป้องกันการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง มัลแวร์ การรั่วไหลของข้อมูล และป้องกันการโจมตีแบบอื่น ๆ ได้ ซี่งมีหลายบริษัทหันมาใช้การยืนยันตัวตนด้วยระบบ Passkeys แล้ว ทั้ง Google, Tiktok, Whatsapp, Amazon ดูบริการและแอปพลิเคชันที่รองรับระบบ Passkeys เพิ่มเติม https://www.passkeys.io/who-supports-passkey
สำหรับใครที่อยากทดลองใช้ สามารถเข้าไปลองได้ที่นี่ https://www.passkeys.io/
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่พาสคีย์ กำลังจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยเรื่อย รหัสผ่านแบบดั้งเดิม รวมทั้งการยืนยันตัวตนสองขั้นตอน ก็ยังคงมีความจำเป็น สำหรับการปกป้องสิ่งมีค่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นตัวตนหรือทรัพย์สินเงินทอง ดังนั้นเราจึงควรใส่ใจในการตั้งรหัสผ่านที่แข็งแรง แยกแยะไม่ใช้ซ้ำอยู่รหัสเดียว และเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองขั้นตอนหากเป็นไปได้ เพราะแท้จริงแล้วไม่ว่าเทคโนโลยีจะรัดกุมขนาดไหนก็ตาม แต่กุญแจสำคัญของความปลอดภัยสูงสุด ก็ยังอยู่ที่ตัวเรานั่นเอง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter