06 กุมภาพันธ์ 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์ในต่างประเทศ อ้างผลวิจัยที่พบว่าลมหายใจออกของมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีส่วนทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน พร้อมอ้างว่าลมหายใจออกของประชากรในสหราชอาณาจักรในระยะเวลา 1 ปี คิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ปลดปล่อยภายในประเทศ
บทสรุป :
- คาร์บอนไดออกไซด์จากลมหายใจออก ไม่ถือเป็นการเพิ่ม CO2 ต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก CO2 จากลมหายใจมาจากการกินอาหารซึ่งมีต้นกำเนิดจากการสังเคราะห์แสงของพืชที่ใช้ CO2 ในการเจริญเติบโต
- แม้ลมหายใจออกจะมีมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแก๊สเรือนกระจก แต่ถือว่ามีในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกิจกรรมอื่น ๆ ของมนุษย์
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ปริมาณ CO2 จากลมหายใจออก
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Byju’s ระบุว่า ในอากาศที่หายใจเข้ามีอัตราส่วน CO2 ที่ 0.04% ส่วนลมหายใจออกมีอัตราส่วน CO2 ที่ 4.4%
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนพบว่า มนุษย์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากหายใจออกเฉลี่ยวันละ 0.58 – 1.04 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวัน
เว็บไซต์ BBC Science Focus เคยประเมินว่า ในแต่ละปี ลมหายใจออกของประชากรทั่วโลกจำนวน 6.8 พันล้านคน ปลดปล่อย CO2 ถึง 2.5 พันล้านตันต่อปี เทียบได้กับ 7% ของการปลดปล่อย CO2 จากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลในแต่ละปี
CO2 จากลมหายใจไม่เพิ่มแก๊สเรือนกระจกต่อโลก
แม้ CO2 จากลมหายใจของมนุษย์แต่ละปีจะมีปริมาณมหาศาล แต่ไม่นับว่าเป็นการเพิ่มปริมาณ CO2 ให้กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก CO2 ในลมหายใจมนุษย์ มีที่มาจากการบริโภคพืชและสัตว์ ซึ่งล้วนเป็นผลิตผลจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ที่เปลี่ยน CO2 ในสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นสารประกอบอินทรีย์ และใช้เป็นอาหารที่มอบพลังงานให้กับมนุษย์ผ่านกระบวนการสันดาป ก่อนจะถูกปลดปล่อยจากร่างกายผ่านทางลมหายใจออกในรูปแก๊ส CO2
ดังนั้น CO2 จากลมหายใจมนุษย์ นับเป็นการคืนปริมาณ CO2 กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ถือเป็นการเพิ่มปริมาณ CO2 ที่เร่งการเกิดสภาวะเรือนกระจกแต่อย่างใด
ต่างจากการปล่อย CO2 จากกระบวนการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การทำงานของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) เนื่องจาก CO2 ที่ออกจากท่อไอเสีย มีที่มาจากสารประกอบอินทรีย์ที่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นโลกนานนับล้านปี ดังนั้น CO2 ที่เกิดจากการนำเชื้อเพลิงฟอสซิลในอดีตกลับมาใช้ ถือเป็นการเพิ่มปริมาณ CO2 ให้กับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และเร่งการเกิดสภาวะเรือนกระจก
มีเทนและไนตรัสออกไซด์ : แก๊สเรือนกระจกจากลมหายใจมนุษย์
แม้ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากลมหายใจมนุษย์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสภาวะเรือนกระจก แต่แก๊สมีเทน (CH4) ที่เกิดจากแบคทีเรีย Methanogenic Bacteria ที่อยู่ในลำไส้ และแก๊สไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่เกิดจากแบคทีเรีย Denitrifying Bacteria ที่อยู่ในลำไส้และช่องปาก ถือเป็นแก๊สเรือนกระจกที่มนุษย์ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางลมหายใจออก
งานวิจัยของดอว์สันและคณะ ที่ตีพิมพ์ทางวารสารวิทยาศาสตร์ PLOS One เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2023 ได้สำรวจปริมาณมีเทนและไนตรัสออกไซด์จากลมหายใจออกของกลุ่มตัวอย่าง 328 ราย พบว่า 31% มีปริมาณมีเทนในลมหายใจและทุกรายต่างพบไนตรัสออกไซด์ในลมหายใจ
ดอว์สันและคณะนำค่าที่พบไปเทียบกับจำนวนประชากรของสหราชอาณาจักรจำนวน 68.2 ล้านคน ก่อนได้ข้อสรุปว่า พลเมืองสหราชอาณาจักรปลดปล่อยมีเทนจากลมหายใจปีละ 1.04 ล้านกิโลกรัม และปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์จากลมหายใจปีละ 6.9 หมื่นกิโลกรัม
เมื่อเทียบกับการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยรวม มีเทนจากลมหายใจมนุษย์คิดเป็นสัดส่วน 0.05% ของการปลดปล่อยมีเทนสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนไนตรัสออกไซด์จากลมหายใจมนุษย์คิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของการปลดปล่อยไนตรัสออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม
ผลวิจัยจึงสรุปว่า ลมหายใจของมนุษย์มีส่วนเพิ่มแก๊สเรือนกระจกในสิ่งแวดล้อมเพียง 0.013% เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าปริมาณที่เคยสำรวจในอดีต
การบิดเบือนของสื่อที่ต่อต้านทฤษฎีสภาวะโลกร้อน
ผลวิจัยถูกสื่อที่ต่อต้านทฤษฎีสภาวะโลกร้อนหลายสำนักไปบิดเบือนว่านักวิทยาศาสตร์พยายามทำให้คนตื่นกลัวสภาวะโลกร้อนเกินจริง บางเจ้าพาดหัวข่าวบิดเบือนว่าลมหายใจของมนุษย์มีส่วนเพิ่มแก๊สเรือนกระจกในส่งแวดล้อมถึง 0.1% ซึ่งมากกว่าผลวิจัยถึง 8 เท่า
ดร.นิโคลัส โคแวน จากศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยา สหราชอาณาจักร เจ้าของงานวิจัยร่วม ได้ชี้แจงต่อเว็บไซต์ The Conversation ว่า แก๊สเรือนกระจกจากลมหายใจมนุษย์ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลอย่างมาก ดังนั้นประชาชนที่ต้องการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก สมควรหายใจตามปกติและร่วมกันส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://climatefeedback.org/claimreview/contrary-widespread-misrepresentation-new-study-finds-extremely-minimal-impact-human-breathing-climate/
https://byjus.com/biology/composition-gases-breathe/
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0295157
https://risc.in.th/knowledge/does-the-carbon-dioxide-we-breathe-out-hurt-the-world
https://www.sciencefocus.com/planet-earth/how-much-does-human-breathing-contribute-to-climate-change
https://www.mcgill.ca/oss/article/environment-quirky-science-you-asked/humans-and-animals-exhale-carbon-dioxide-every-breath-why-not-considered-be-problem-far-global
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter