05 กุมภาพันธ์ 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook และ X (Twitter) ในต่างประเทศ ที่อ้างงานวิจัยที่พบว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด เห็นได้จากกลุ่มผู้ปลูกพืชในเรือนกระจก ที่นิยมใช้เครื่องกำเนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Generators) เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช การลดปริมาณ CO2 ในธรรมชาติจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารไปทั่วโลก
บทสรุป :
- พืช C3 ต้องการ CO2 มากกว่าพืชชนิดอื่น แต่การเพิ่ม CO2 เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชในเรือนกระจกที่ปัจจัยด้านน้ำและดินมีความสมบูรณ์
- ในธรรมชาติที่ปัจจัยด้านน้ำและดินมีอย่างจำกัด การเพิ่ม CO2 ในบรรยากาศจะนำมาซึ่งภัยแล้งและคลื่นความร้อน ส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกโดยรวม
- งานวิจัยพบว่าการเพิ่ม CO2 ทำให้พืช C3 ให้ผลผลิตมากขึ้น แต่ผลผลิตกลับมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
คาร์บอนไดออกไซด์ กับการเติบโตของพืช C3
ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช จะมีกระบวนการที่เรียกว่าการตรึงคาร์บอน (Carbon Fixation) หรือการเปลี่ยนคาร์บอนอนินทรีย์ซึ่งอยู่ในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ ให้มาอยู่ในรูปของสารประกอบอินทรีย์คือน้ำตาลกลูโคส สำหรับใช้เป็นพลังงานสะสมของพืชต่อไป
การตรึงคาร์บอนจะแบ่งตามชนิดของพืช มีด้วยกัน 3 แบบ คือ การตรึงคาร์บอนแบบ C3 C4 และ CAM
พืช C3 หรือพืชที่มีการตรึงคาร์บอนแบบ C3 ถือเป็นพืชที่พบได้มากที่สุด หรือ 95% ในธรรมชาติ ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น
พืช C3 มีแนวโน้มเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่แสงแดดปานกลาง อุณหภูมิปานกลาง และมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200 ppm หรือสูงกว่า
ดังนั้น พืช C3 จึงเป็นพืชที่ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ในการเจริญเติบโตมากกว่าพืชที่มีการตรึงคาร์บอนแบบ C4 และ CAM
บิดเบือนงานวิจัย
อย่างไรก็ดี การนำงานวิจัยมาอ้างว่าไม่ควรลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นการนำเสนองานวิจัยอย่างไม่ครบถ้วน
งานวิจัยที่ถูกนำมาอ้างได้แก่หัวข้อ “Higher CO2 concentrations increase photosynthesis in C3 plants” (คาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงช่วยเร่งกระบวนการสังเคราะห์แสงในพืช C3) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2019
คริสตี เอบี ศาสตราจารย์จากศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลก มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เจ้าของงานวิจัยร่วมชี้แจงต่อ Fact Checker ของสำนักข่าว AP ว่า คาร์บอนไดออกไซด์คืออาหารที่สำคัญของพืช งานวิจัยพบว่า ขณะที่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้พืชมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น 85% แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง
ทีมวิจัยจึงลงความเห็นว่าการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อหวังเพิ่มผลผลิต ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่าและไม่เป็นผลดีต่อโลก เพราะปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 830 ล้านคนที่เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และอีก 2 พันล้านคนที่มีปัญหาขาดแคลนแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย
การปลูกพืชในธรรมชาติไม่เหมือนการปลูกพืชในเรือนกระจก
เครื่องกำเนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะมีประโยชน์ต่อพืชในเรือนกระจก ต่อเมื่อปริมาณ CO2 กับปริมาณน้ำและแสงแดดไม่สมดุลกัน
เควิน กริฟฟิน ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อธิบายว่า ในเรือนกระจกที่ผู้ปลูกพืชให้น้ำและปุ๋ยอย่างพอเพียง หากเกิดการขาดแคลนปริมาณ CO2 การใช้เครื่องกำเนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะช่วยเร่งผลผลิตได้อย่างมาก แต่หากปริมาณน้ำขาดแคลน การใช้เครื่องกำเนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน
แต่ในระบบนิเวศน์ ที่ CO2 มีอย่างพอเพียง แต่ปัจจัยด้านปริมาณน้ำ สภาพดิน อุณหภูมิที่เหมาะสม ถือเป็นทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด การเพิ่มขึ้นของ CO2 จะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน คลื่นความร้อน และภัยแล้ง ซึ่งส่งผลเสียต่อผลผลิตทางการเกษตรที่รุนแรงยิ่งกว่า
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/article/idUSL1N2Z01O0/
https://apnews.com/article/fact-check-climate-co2-carbon-emissions-plants-crops-167887410508
http://www.thaischool1.in.th/_files_school/90100566/data/90100566_1_20150108-110615.pdf
http://www.sc.chula.ac.th/courseware/2305103/add_topics/add3/2_photosynthesis.html
https://il.mahidol.ac.th/e-media/science4/plant/teacher.htm
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter