31 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยข้อความหนึ่งอ้างว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอลหรือ IDF ยอมรับว่าเป็นฝ่ายลงมือยิงขีปนาวุธใส่โรงพยาบาลในฉนวนกาซา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 500 ราย ส่วนอีกข้อความหนึ่งผู้โพสต์อ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Al Jazeera ก่อนแฉว่าเบื้องหลังการถล่มโรงพยาบาลในกาซา เป็นฝีมือกองกำลังติดอาวุธฮามาสนั่นเอง
บทสรุป :
- มีการปลอมเพจ Facebook ของ IDF ให้ยอมรับว่าการโจมตีโรงพยาบาลกาซาเป็นฝีมือของอิสราเอล
- มีผู้อ้างตนเป็นผู้สื่อข่าว Al Jazeera อ้างอย่างไม่มีหลักฐานว่าระเบิดเป็นฝีมือของฝั่งฮามาส
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศ ยืนยันได้ว่าคำกล่าวอ้างทั้งสองไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2023 เกิดเหตุขีปนาวุธยิงใส่โรงพยาบาลอัลอาลี อัลอะราบี โรงพยาบาลทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 470 ราย โดยไม่สามารถยืนยันได้ว่าขีปนาวุธถูกยิงมาจากฝ่ายใด
มีการแชร์ข้อความจากหน้า Facebook ภาษาอาหรับของกองกำลังป้องกันอิสราเอลหรือ IDF โดยเนื้อหาระบุว่า “เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีการตัดสินใจระเบิดโรงพยาบาลในกาซา เพื่อเป็นการการุณยฆาตต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาล”
อาวีเชย์ อาเดร ผู้บัญชาการฝ่ายข่าวภาษาอาหรับ ของกองกำลังป้องกันอิสราเอล ปฏิเสธว่าไม่มีการออกแถลงการณ์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับโรงพยาบาลในกาซาแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าข่าวต่าง ๆ ที่มีชื่อของเขาไปเกี่ยวข้องล้วนเผยแพร่ออกมาจากสื่อของกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด
การตรวจสอบเพจพบว่าข้อความที่โพสต์มีความแตกต่างจากเพจ Facebook ภาษาอาหรับของ IDF อย่างเป็นทางการอยู่ 2 ส่วน คือ เพจทางการของ IDF มีเครื่องหมายการตรวจสอบยืนยัน (Verified badges) แต่เพจที่กล่าวอ้างไม่มี
แม้สื่อสังคมออนไลน์ของ IDF ทั้ง Facebook หรือ X จะใส่โลโก้ของ IDF แต่เพจ Facebook ภาษาอาหรับของ IDF จะใช้รูปภาพโพรไฟล์ของ อาวีเชย์ อาเดร แทนการใส่โลโก้ของ IDF ต่างจากข้อความที่กล่าวอ้างที่ใช้โลโก้ของ IDF แทนรูปโพรไฟล์ของ อาวีเชย์ อาเดร จึงยืนยันได้ว่าเป็นข้อความที่จงใจปลอมขึ้นมา
ภายหลังบัญชีที่ปลอมแปลงเพจ Facebook ภาษาอาหรับของ IDF ได้ถูกลบจากระบบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
อีกข้อความหนึ่งมาจากบัญชี X ที่ชื่อว่า @_Faridakhan ที่อ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของ Al Jazeera พร้อมระบุว่า “ตนเองได้มาทำงานที่เมืองทางตอนใต้ของฉนวนกาซา และได้เห็นกับตาว่าขีปนาวุธที่ยิงใส่โรงพยาบาลคือจรวด Ayyash 250 ของกลุ่มฮามาส ที่ยิงพลาดจนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย และเขาได้บันทึกวิดีโอเอาไว้แล้ว สิ่งที่ Al Jazeera รายงานว่าอิสราเอลอาจอยู่เบื้องหลังเป็นเรื่องโกหก”
อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Al Jazeera ได้ชี้แจงผ่านทาง X ว่า บัญชี X ที่ชื่อ @_Faridakhan ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Al Jazeera พร้อมย้ำว่าไม่เคยว่าจ้างพนักงานที่ชื่อว่า ฟาริดา ข่าน เช่นเดียวกัน
จากการตรวจสอบพบว่าบัญชี @_Faridakhan สร้างครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2023 ที่ประเทศกาตาร์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Al Jazeera แต่ไม่พบว่ามีรายงานข่าวใดของ Al Jazeera เผยแพร่โดยคนที่ชื่อว่า ฟาริดา ข่าน แต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://apnews.com/article/fact-check-israel-hamas-gaza-hospital-blast-367673389958
https://www.reuters.com/fact-check/idf-did-not-share-facebook-post-taking-responsibility-gaza-hospital-strike-2023-10-19/
https://www.reuters.com/fact-check/al-jazeera-not-affiliated-with-x-account-making-gaza-hospital-claim-2023-10-20/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter