27 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
สงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ส่อเค้ายืดเยื้อและขยายวงออกไปเรื่อยๆ นอกจากกระสุนปืนและจรวดจะถูกใช้เพื่อทำลายคู่อริแล้ว ข้อมูลข่าวสารยังกลายเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามและสร้างความชอบธรรมให้กับฝ่ายของตนเอง
หนึ่งในข่าวจากสมรภูมิรบในอิสราเอลและกาซาที่สร้างความสลดใจไปทั่วโลก คือข่าวที่อ้างว่ากองกำลังติดอาวุธฮามาสลงมือตัดศีรษะเด็กทารกชาวอิสราเอลนับ 40 ราย
สื่อตะวันตกต่างนำข้อความที่น่าสยดสยองนี้ ไปใช้เป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ทั้ง Reuters, BBC, CNN, Sky News, The Independent, Fox News และ Business Insider
มีผู้นำฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล นำข้อความไปกล่าวอ้างในวงกว้าง ทั้ง ทาล ไฮน์ริช โฆษกของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้ยืนยันข่าวการฆ่าตัดหัวเด็กระหว่างแสดงความเห็นออกสื่อ ส่วน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ยืนยันว่าได้เห็นภาพการตัดศีรษะเด็กทารกโดยฝีมือผู้ก่อการร้าย ระหว่างงานประชุมร่วมกับผู้นำชาวยิวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม บัญชี X(Twitter) ของทางการอิสราเอล ได้เผยแพร่ภาพทารกที่ถูกสังหารในลักษณะต่าง ๆ แต่ไม่มีการยืนยันว่าพบทารกที่ถูกสังหารด้วยการตัดศีรษะตามที่สื่อนำเสนอ
เช่นเดียวกับทำเนียบข่าวที่ออกมาแก้ไขความเข้าใจผิดว่า โจ ไบเดน ไม่ได้เห็นศพทารกถูกตัดหัวอย่างที่กล่าวในที่ประชุม พร้อมชี้แจงว่าผู้นำสหรัฐอเมริกาเพียงอ้างเนื้อหาตามที่สื่อรายงานเท่านั้น
แม้แต่สำนักข่าว CNN ก็ทำการแก้ไขรายงานข่าว หลังทางการอิสราเอลไม่สามารถยืนยันความชัดเจนของข้อกล่าวอ้างได้
ตัวแทนของกองกำลังติดอาวุธฮามาสก็ปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารทารกอิสราเอลด้วยการตัดศีรษะเช่นเดียวกัน
ที่มาของข่าว “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว”
สื่อเจ้าแรกที่เผยแพร่ข่าว “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” ได้แก่ i24News สำนักข่าวของประเทศอิสราเอล ที่ถ่ายทอดรายงานสดทาง YouTube เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม โดยใช้ชื่อวิดีโอว่า Beheaded Babies and Women Found in Kfar Aza โดย นิโคล ซีเดก ผู้สื่อข่าวภาคสนามของ i24News ซึ่งตามติดภารกิจกู้ศพชาวบ้านที่ถูกกลุ่มฮามาสสังหาร รายงานว่าแหล่งข่าวซึ่งเป็นทหารในพื้นที่แจ้งว่า พบศพทารกอย่างน้อย 40 ราย บางศพอยู่ในสภาพที่ศีรษะถูกตัดออกจากร่าง
รายงานดังกล่าวกระตุ้นความสนใจของคนทั่วโลก ส่งผลให้บัญชี X(Twitter) ของ i24News ทำยอดไลก์ แชร์ และแสดงความเห็นกว่า 40 ล้านครั้ง
จากการตรวจสอบโดย Factcheck.org พบว่า นิโคล ซีเดก ได้นำรายงานของเธอไปเผยแพร่ทาง X โดยข่าวชิ้นแรกคือรายงานที่อ้างว่ามีทารก 40 รายถูกสังหาร ส่วนข่าวที่สองเป็นการรีโพสต์บทสัมภาษณ์ เดวิด เบน ไซอน รองผู้บัญชาการหน่วยทหารที่กู้ศพ ที่ยืนยันว่าพบศพทารกที่ถูกตัดศีรษะ แต่ไม่ได้ระบุจำนวนทารกที่เสียชีวิต
ข่าว “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” น่าจะเกิดจากการนำข้อความจากทั้งสองข่าวมาปนกัน จนกลายเป็นที่มาของข่าว “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” ที่ถูกแชร์ไปทั่วโลก
ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเว็บไซต์ Snopes ได้สอบถามไปยังกองกำลังป้องกันอิสราเอลหรือ IDF ซึ่งโฆษกของ IDF ไม่ยืนยันว่ามีการตัดศีรษะทารกโดยกลุ่มฮามาสหรือไม่ หรือมีการคร่าชีวิตทารกเป็นจำนวนเท่าใด แต่ย้ำว่ามีทารก เด็ก ผู้หญิง คนชราถูกสังหารในเมือง Kfar Aza เป็นจำนวนมาก ลักษณะการสังหารมีความโหดเหี้ยมไม่ต่างจากที่กลุ่มก่อการร้าย ISIS เคยกระทำต่อเหยื่อ และไม่แปลกที่กลุ่มฮามาสจะทำเช่นเดียวกัน
การขาดหลักฐานชั้นหนึ่ง
อุปสรรคในการยืนยันข่าว “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” มาจากการขาดแคลนหลักฐานชั้นหนึ่ง เช่น การยืนยันของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ญาติของเหยื่อ เนื่องจากรายงานส่วนใหญ่อ้างความเห็นของทหารที่สำรวจพื้นที่หรือรายงานข่าวของ i24News เท่านั้น
การนำซากทารกมายืนยันการตัดศีรษะก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากชาวยิวมีธรรมเนียมฝังศพผู้เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง การนำศพมาตรวจสอบหรือเผยแพร่ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ตาย
ทางการอิสราเอลยังปฏิเสธการเผยแพร่ภาพศพผู้เสียชีวิตแก่สื่อมวลชนหรือทำการสืบสวนเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสงวนความเป็นส่วนตัวของเหยื่อและครอบครัวผู้เสียชีวิต
มุมมองที่แตกต่าง
ออเรน ซีฟ ผู้สื่อข่าวของ 972 mag สำนักข่าวท้องถิ่นของอิสราเอลที่มีโอกาสไปร่วมสังเกตการกู้ศพที่ทุ่งสังหารในเมือง Kfar Aza ได้ชี้แจงผ่านทาง X(Twitter) ว่า จากการสัมภาษณ์ทหารที่อยู่ในพื้นที่ ไม่พบการเอ่ยถึงศพทารกถูกตัดหัว 40 รายแต่อย่างใด โฆษกและผู้บัญชาการกองทัพก็ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน
แต่กระนั้น ออเรน ซีฟ ยอมรับว่าสิ่งที่เห็นในที่เกิดเหตุ คือศพผู้บริสุทธิ์ที่ถูกสังหารอย่างสยดสยองจำนวนมาก จึงอาจเป็นไปได้ที่ “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” อาจจะเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งที่เขาเดินทางไปสำรวจไม่ถึง
ความเห็นจากสื่อแต่ละสำนักมีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ขณะที่ The Jerusalem Post สื่อของประเทศอิสราเอล ยืนยันว่าภาพศพทารกที่ทางการอิสราเอลเผยแพร่ มีหลักฐานว่าศพถูกแยกชิ้นส่วน ต่างจาก Al Jazeera สื่อของประเทศกาตาร์ ที่ชี้ชัดว่ารายงาน “ทารก 40 รายถูกฆ่าตัดหัว” เป็นข่าวปลอม ส่วนสื่อฝั่งอเมริกันทั้ง NBC และ CNN สรุปว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันหรือปฏิเสธว่ามีการสังหารทารกด้วยตัดศีรษะถึง 40 รายหรือไม่
โฆษณาชวนเชื่อหรือ Propaganda เป็นกลยุทธ์ที่คู่ขัดแย้งในสงครามนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่การเผยแพร่ข่าวโดยปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อข้อเท็จจริงของสงคราม การมาถึงสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ข้อมูลที่คลุมเครือถูกเผยแพร่อย่างฉับพลันและส่งผลกระทบในวงกว้าง ทันทีที่ผู้คนหลงเชื่อในข่าวลวง การปรับเปลี่ยนความเข้าใจให้ถูกต้องในภายหลังอาจไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนจะยอมรับโดยง่าย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.snopes.com/news/2023/10/12/40-israeli-babies-beheaded-by-hamas/
https://www.factcheck.org/2023/10/what-we-know-about-three-widespread-israel-hamas-war-claims/
https://meaww.com/who-is-nicole-zedeck-journalist-at-centre-of-40-babies-beheaded-story-refuses-to-back-down
https://en.wikipedia.org/wiki/Kfar_Aza_massacre
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter