24 กรกฎาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ผ่านมาแล้ว 54 ปีที่มนุษย์สามารถเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 แต่กระนั้น ยังมีทฤษฎีสมคบคิดที่อ้างว่าการเดินทางสู่ดวงจันทร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ NASA เมื่อปี 1969 เป็นเรื่องลวงโลก จุดประสงค์เพื่อหวังผลทางการเมืองในช่วงสงครามเย็น ในยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งขันกันเป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศ
การมีอยู่ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ผู้คนไม่น้อยเชื่อว่า NASA จัดฉากการส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์ แม้จะมีหลักฐานและประจักษ์พยานมากมายที่ยืนยันว่า ยานอวกาศ Apollo 11 สามารถนำนักบินอวกาศไปลงจอดที่ดวงจันทร์ได้สำเร็จตั้งแต่ปี 1969 ก็ตาม
ต่อไปนี้คือการหักล้าง 5 ทฤษฎีสมคบคิดที่มักใช้ในการจับผิดว่า การเดินทางสู่ดวงจันทร์เมื่อปี 1969 เป็นเรื่องลวงโลก
- ธงชาติสหรัฐอเมริกาบนดวงจันทร์โบกไสว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีลมหรืออากาศบนดวงจันทร์ จึงน่าจะเป็นการปักธงบนพื้นโลกนี่เอง
เพื่อให้ภาพธงชาติสหรัฐอเมริกาบนผิวดวงจันทร์ออกมาดูสวยงามในสายตาชาวโลก NASA จึงใช้เสาธงรูปตัว L คว่ำ มาใช้เพื่อให้ธงกางออกอย่างชัดเจน แม้ปลายธงที่ไม่มีเสายึดจะดูแกว่งเหมือนลูกตุ้มเล็กน้อย ส่วนสาเหตุที่ผืนธงเต็มไปด้วยรอยยับและดูเหมือนเป็นริ้วคลื่น เป็นเพราะธงถูกพับระหว่างการจัดเก็บ
โรเจอร์ แลนนิอัส อดีตหัวหน้านักประวัติศาสตร์ของ NASA เล่าว่า ก่อนการปักธงครั้งประวัติศาสตร์ นีล อาร์มสตรอง และ บัซ อัลดริน สองนักบินยานอวกาศ Apollo 11 เผลอทำเสาธงงอเล็กน้อย จึงทำให้ธงดูเหมือนกำลังโบกไสว สองนักบินอวกาศยังกลัวว่าเสาธงจะล้มลงหลังจากปักไปแล้ว จึงรีบถ่ายภาพอย่างรวดเร็วหลังจากปักเสาลงบนพื้นดวงจันทร์ได้ไม่นาน จึงได้ภาพที่ดูเหมือนเสาธงกำลังสั่นไหวนั่นเอง
- ภาพถ่ายท้องฟ้าบนดวงจันทร์ทุกรูป กลับไร้แสงดาวและเต็มไปด้วยความมืด เพราะ NASA จงใจลบดวงดาวออกไปจากภาพถ่ายทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้นักดาราศาสตร์วิเคราะห์ตำแหน่งดวงดาวและสามารถบอกได้ว่าเป็นภาพถูกถ่ายที่ตำแหน่งใดบนพื้นโลก
การส่งยานอวกาศไปจอดบนดวงจันทร์ของโครงการ Apollo ทุกครั้งเกิดขึ้นในช่วงกลางวันของดวงจันทร์ (Lunar Daytime) แสงจากดวงดาวเพียงเล็กน้อยบนท้องฟ้าของดวงจันทร์ในช่วง Lunar Daytime จึงถูกบดบังด้วยแสงจากดวงอาทิตย์และแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวดวงจันทร์
เอมิลี ดราเบค-มอนเดอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลวงเกรนิช (Royal Observatory Greenwich) จากประเทศอังกฤษ ชี้แจงว่า NASA ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ของกล้องประจำตัวนักบินอวกาศเอาไว้สูงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้แสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวดวงจันทร์ทำให้รูปภาพสว่างมากเกินไป (Overexpose) การปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สูง ส่งผลให้กล้องไม่สามารถจับแสงเพียงเล็กน้อยจากดวงดาวบนท้องฟ้าของดวงจันทร์ได้
นอกจากนี้ การปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ของกล้องถ่ายภาพให้สูง เมื่อนำกล้องไปถ่ายภายฉากหน้าเป็นวัตถุเรืองแสง จะส่งผลให้ฉากพื้นหลังเปลี่ยนเป็นฉากมืดทึบ
- เมื่อยาน Eagle หรือยานลงจอดบนดวงจันทร์ (Lunar Module Eagle) สัมผัสบนผิวดวงจันทร์ กลับไม่มีร่องรอยการเกิดฝุ่นคลุ้งกระจายหรือการเกิดแอ่งบนดวงจันทร์จากการปล่อยไอพ่นจากยานขณะลงจอด
เอมิลี ดราเบค-มอนเดอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลวงเกรนิช อธิบายว่า ก่อนการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ยาน Eagle ไม่ได้ลงจอดตามแนวดิ่งโดยทันที แต่เดินทางไปตามแนวขนานกับพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนการลงจอด ทิศทางของไอพ่น (Thruster) จึงไม่ชี้ลงบนผิวดวงจันทร์โดยตรง การจอดของยานลงจอดบนดวงจันทร์จึงไม่ก่อให้เกิดฝุ่นคลุ้งกระจายจำนวนมาก ยกเว้นตอนที่ยานลงจอดจะพบว่ามีฝุ่นคลุ้งกระจายจำนวนเล็กน้อย
โรเจอร์ แลนนิอัส อดีตหัวหน้านักประวัติศาสตร์ของ NASA เล่าว่า ยานลงจอดบนดวงจันทร์ไม่จำเป็นต้องใช้ไอพ่นขนาดใหญ่เพื่อการลงจอดบนผิวดวงจันทร์ เนื่องจากแรงดึงดูดบนดวงจันทร์น้อยกว่าโลกถึง 6 เท่า การลงจอดจึงเป็นไปอย่างนิ่มนวลและไม่ก่อให้เกิดแอ่งบนดวงจันทร์แต่อย่างใด
- เงาจากภาพถ่ายบนดวงจันทร์ดูผิดธรรมชาติ น่าจะเกิดจากการจัดแสงสปอตไลต์เพื่อการถ่ายทำ
บนดวงจันทร์มีแหล่งกำเนิดแสงที่หลากหลาย ทั้งแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวดวงจันทร์ แสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากผิวโลก แสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากยานลงจอดบนดวงจันทร์และชุดของนักบินอวกาศ
เมื่อแสงเหล่านั้นสะท้อนไปยังภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์บนดวงจันทร์ ทั้งแอ่ง เนินเขา และฝุ่นบนดวงจันทร์ (Moon Dust) จึงก่อให้เกิดการหักเหแสง และส่งผลให้เงาบนดวงจันทร์มีความแตกต่างจากเงาที่เกิดบนพื้นผิวโลก ซึ่งอาจจะเงายาวกว่า สั้นกว่า หรือบิดเบี้ยวจนผิดจากรูปร่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ กล้องที่ใช้บันทึกภาพบนดวงจันทร์ยังใช้เลนส์มุมกว้าง ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพของวัตถุบิดเบี้ยวจากความเป็นจริงได้อีกด้วย
- ไม่มีนักบินอวกาศคนใดถือกล้องถ่ายรูป แล้วใครเป็นคนถ่ายภาพบนดวงจันทร์ ถ้าไม่ใช่ช่างภาพในกองถ่าย
NASA ออกแบบให้กล้องประจำตัวนักบินอวกาศติดไว้ที่บริเวณหน้าอกของชุดนักบินอวกาศ จึงไม่จำเป็นต้องยกกล้องขึ้นมาเล็งก่อนการถ่ายภาพเหมือนกล้องทั่วไป
ข้อมูลอ้างอิง :
https://apnews.com/article/8bad42bcddb94c91860c76b71f994e45
https://en.wikipedia.org/wiki/Moon_landing_conspiracy_theories
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter