23 มีนาคม 2566
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : Politifact (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ประเภทข่าวปลอม : ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- เป็นการตัดต่อข้อความจากรายงานข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจผิด
- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสาเหตุที่ชาวออสเตรเลียเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นในปี 2022 เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีคลิปวิดีโอข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Instagram ในประเทศออสเตรเลียและต่างประเทศ ที่อ้างว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 มีชาวออสเตรเลียเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยระบุว่าสาเหตุมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 จนทำให้ผู้คนต้องเสียชีวิตจากอาการข้างเคียงของวัคซีน
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ในคลิปที่กล่าวอ้าง ประกอบภาพวิดีโอที่แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือการรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ 9News Queensland ของประเทศออสเตรเลีย ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023 โดยผู้ประกาศรายงานว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 มีชาวออสเตรเลียเสียชีวิตจากโรคหัวใจถึง 10,200 ราย เพิ่มจากปีก่อน ๆ ถึง 17%
ส่วนวิดีโอช่วงที่ 2 เป็นการแสดงความเห็นของ แบลร์ คอทเทลล์ นักเคลื่อนไหวชาวออสเตรเลียวัย 33 ปี ที่มีแนวคิดขวาจัด โดยเขาอ้างว่า “เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2021 รัฐบาลออสเตรเลียได้ร่วมมือกับบริษัทยาข้ามชาติ ออกกฎบังคับให้ชาวออสเตรเลียฉีดวัคซีน mRNA ที่อยู่ในระหว่างการทดลองจำนวน 2 เข็ม มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หลังจากนั้น 8 เดือน ก็มีคนตายจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 17%”
อย่างไรก็ดี ในรายงานฉบับเต็มของ 9News Queensland ไม่ได้ระบุว่าการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญที่ให้ความเห็นในรายงานข่าวของ 9News Queensland ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในสมองมากขึ้น
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดยังก่อให้เกิดการล่าช้าในการรักษาและการตรวจสุขภาพ ส่งผลให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก ส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านการรักษาโดยรวม
ในวันที่ 21 มกราคม 2023 หนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald ตีพิมพ์รายงานข่าวที่อ้างอิงบทวิเคราะห์ข้อมูลสถิติการเสียชีวิตโดยสถาบัน Actuaries Institute ของประเทศออสเตรเลีย
ข้อมูลต้นฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2022 พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 มีชาวออสเตรเลียเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) จำนวน 10,220 ราย มากกว่าการคาดการณ์ประมาณ 17% รายงานระบุว่า การรักษาและการตรวจสุขภาพที่ล่าช้า คือปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการยืนยันว่า การเสียชีวิตโดยมีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 มีสัดส่วนที่น้อยมาก
ข้อมูลจากหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรคของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2022 พบว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2022 มีรายงานการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 944 ครั้ง โดยพบรายที่วัคซีนมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตเพียง 14 ราย
13 ราย เป็นการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดสแรกของบริษัท AstraZeneca โดย 8 รายมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with Thrombocytopenia Syndrome หรือ TTS) 2 รายมีอาการ Guillain-Barre syndrome โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย, 2 รายป่วยด้วยโรคระบบประสาทที่พบได้ยาก และ 1 รายป่วยด้วยโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia หรือ ITP)
และมีผู้เสียชีวิต 1 รายจากอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นของบริษัท Moderna
รายงานจาก Sydney Morning Herald ระบุว่า การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดที่เพิ่มขึ้นถึง 17% ในปี 2022 แม้จะน่ากังวล แต่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะแต่เดิมโรคหัวใจก็เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศออสเตรเลียมานานหลายปี การมาถึงของโควิด-19 คือสิ่งกระตุ้นให้ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.politifact.com/factchecks/2023/feb/23/instagram-posts/covid-19-vaccines-did-not-cause-17-increase-deaths/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter