กรุงเทพฯ 10 พ.ค.-ผอ.สำนักพุทธฯ เผยยังไม่พบเอกสารยืนยันที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่า “กาโตะ” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ ยันต้องพิสูจน์ให้ได้ ขณะ มส.ตั้ง “สมเด็จพระพุฒจารย์” กำหนดบทลงโทษ “พระนอกรีต” และ “พระผู้ปกครอง” ที่ปล่อยปละละเลย
นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องการตรวจสอบตำแหน่งของอดีตพระกาโตะ ในขณะที่ยังบวชอยู่นั้น ยังไม่พบเอกสารยืนยันที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ จริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญมาก ต้องพิสูจน์ให้ได้ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะหากอดีตพระกาโตะ มีสถานะเป็นเพียงพระลูกวัด เมื่อคืนเงินที่ยืมมาจากวัดไปแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ซึ่งการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสที่ถูกต้องนั้นต้องมีการแต่งตั้งด้วยลายลักษณ์อักษร เพราะการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ถูกรองรับด้วย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 39 ระบุว่า ให้รักษาการเจ้าอาวาส มีตำแหน่งเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าอาวาส ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามค้นหาหลักฐานมารองรับ เพราะการแต่งตั้งกับไม่แต่งตั้งมีผลต่อคดี หากเป็นรักษาการเจ้าอาวาส การที่นำเงินวัดไปใช้จ่ายส่วนตัวนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่หากไม่ได้เป็นรักษาการเมื่อมีการคืนเงินก็ถือว่าจบ
ส่วนเหตุผลที่พระราชวรญาณ เจ้าอาวาสวัดบุปผารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร แต่งตั้งอดีตพระกาโตะ เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาตินั้น สืบเนื่องจากอดีตเจ้าอาวาสวัดเพ็ญญาติ หรือหลวงพ่อกล่อม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวัด เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระราชวรญาณ เจ้าอาวาสวัดบุปผารามวรวิหาร ภายหลังหลวงพ่อกล่อมมรณภาพ ก็ได้ฝากฝังให้ พระราชวรญาณ เป็นผู้ดูแลต่อ โดยมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากเจ้าคณะตำบลในพื้นที่ตามอำนาจการแต่งตั้ง แต่เนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างไกล ทำให้พระราชวรญาณ ไม่ได้ลงไปดูแลกิจการของวัดเพ็ญญาติด้วยตัวเอง แต่จะลงไปเฉพาะศาสนพิธีสำคัญเท่านั้น จึงมีการมอบหมายให้พระกาโตะช่วยดูแลวัดดังกล่าว ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส แต่เป็นการพูดด้วยวาจา ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งไม่ใช่ตามระเบียบหรือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ส่วนเรื่องการดำเนินการกับพระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พระนอกรีตนั้น ทาง พศ.ได้สรุปประเด็นปัญหาเข้าหารือต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว มีมติให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการ มส. ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครองของ มส. พิจารณาแนวทางบทลงโทษสำหรับพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งบทลงโทษพระผู้ปกครองใกล้ชิดด้วย เพราะถือว่ามีหน้าที่โดยตรงที่ต้องดูแลพระในปกครองให้อยู่ในกรอบ ไม่ใช่เพิกเฉยปล่อยให้พระที่อยู่ในปกครองไปประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสม. -สำนักข่าวไทย