กรุงเทพฯ 31 ต.ค. – “หมอประกิต” เผย อย.อเมริกา ให้ขาย “บุหรี่ไฟฟ้า” แบบมีเงื่อนไข ต้องไม่เพิ่มจำนวนคนสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะเยาวชน ย้ำอเมริกายังไม่รับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้
วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น โดยล่าสุดได้อนุญาตให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อใหม่ของบริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ ซึ่งเป็นบริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วสหรัฐมีการอนุญาตและยกเลิกการอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ ที่สำคัญยังเป็นการอนุญาตจำหน่ายแบบมีเงื่อนไข คือ “จะต้องไม่เพิ่มการสูบบุหรี่ของเยาวชนหรือคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน” นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ยังไม่รับรองว่า “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เลิกสูบบุหรี่” เนื่องจากหลักฐานยังไม่ชัดเจน ซึ่งการอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ล่าสุดมี 3 ยี่ห้อที่ได้รับอนุญาต แต่กลับมีบุหรี่ไฟฟ้าถึง 10 ยี่ห้อที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายอีกต่อไป เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะการมีเยาวชนจำนวนมากสูบบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อที่ถูกห้ามขาย ส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรส ชนิดต่างๆ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีข่าวที่ อย.อเมริกา อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าที่ขายในสหรัฐอเมริกาว่าจะให้ขายต่อไปได้หรือไม่ ทยอยออกมาเรื่อย ๆ เพราะยังมีบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมากอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย.อเมริกา และจะเห็นว่าวิวัฒนาการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในอเมริกา มีความสลับซับซ้อนมาก ต้องมีความพร้อมและต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการดำเนินการ การเปิดให้ขายได้อย่างถูกกฎหมาย เหมาะสำหรับประเทศที่ได้ใช้มาตรการควบคุมยาสูบ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพแล้ว เช่น มาตรการทางภาษียาสูบ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบ การควบคุมส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การรักษาคนที่เสพติดยาสูบ การป้องกันการเข้าถึงยาสูบของเด็ก และการควบคุมบุหรี่หนีภาษี และอัตราการสูบบุหรี่อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว
“หน่วยงานวิชาการระดับโลก สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) มีจุดยืนว่า “การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นนโยบายที่ดีที่สุด สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังไม่มีความพร้อมในการควบคุมยาสูบแม้แต่ชนิดธรรมดา หากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้การควบคุมยาสูบยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้าน รอบคอบแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเข้าเงื่อนไขที่ว่า นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า คือ การห้ามขาย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
สำหรับรายละเอียดไทม์ไลน์การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
ปี พ.ศ. 2550 (1) บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มขายในสหรัฐอเมริกา
ปี พ.ศ. 2552 (2) มีการประกาศว่า อย.อเมริกา มีอำนาจควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังไม่มีการประกาศกฎเกณฑ์ในการควบคุม
ปี พ.ศ. 2559 (3) นายแพทย์ใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนในอเมริกา พร้อมเรียกร้องให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน
ปี พ.ศ. 2560 (4) อย.อเมริกา ประกาศว่า จะกำหนดกฎเกณฑ์การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ภายในปี 2565 โดยขอเวลาในการเตรียมความพร้อม 5 ปี
ปี พ.ศ. 2561 (5) อย.อเมริกา จัดสรรงบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อรณรงค์ถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ
(6) กลุ่มสุขภาพในอเมริกาฟ้องศาลให้ อย.อเมริกา กำหนดมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเร็วขึ้น ศาลสั่งให้ อย. ต้องควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าภายในปี 2564
(7) อย.วางหลักเกณฑ์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่จะขายในอเมริกาต่อไปได้ ต้องแสดงหลักฐานว่า “ผลดีที่เกิดจากการที่ผู้สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ๆ จะต้องมีมากกว่าผลเสีย คือ ความเสี่ยงที่จะทำให้คนไม่สูบบุหรี่หรือเยาวชนเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนั้น ๆ”
(8) บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้เหมือนกับผู้สูบบุหรี่อื่นที่ใช้ยาเลิกบุหรี่ ในการวิจัยทดลองภายใต้การควบคุม แต่หากผู้สูบบุหรี่ธรรมดาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ด้วยตัวเอง จะเลิกสูบบุหรี่ได้น้อยกว่าผู้สูบบุหรี่ที่ใช้วิธีการอื่น (ที่ไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า) ในการเลิก และ อย.อเมริกา ยังไม่ได้ให้การรับรองว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากหลักฐานยังไม่ชัดเจน เหมือนกับที่ อย.ได้รับรองวิธีการเลิกบุหรี่อื่น 7 วิธีการ
ปี พ.ศ. 2564 (30 กันยายน) (9) อย.อเมริกา มีคำสั่งห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดในข้อ (7) โดยเฉพาะการมีเยาวชนจำนวนมากสูบบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อที่ถูกห้ามขาย ส่วนใหญ่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรส ชนิดต่าง ๆ
ปี พ.ศ. 2564 (12 ตุลาคม) (11) อย.อเมริกา อนุมัติบุหรี่ไฟฟ้าของบริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ ยี่ห้อ Vuse 3 ตราย่อย ที่มีรสชาติยาสูบตามธรรมชาติ ให้ขายต่อไปได้ ตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ (7)
(12) ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อเดียวกันอีก 10 ตราย่อย ที่มีรสชาติปรุงแต่งเป็นกลิ่นรสต่างๆ เช่น กลิ่นผลไม้ กลิ่นขนม ไม่ผ่านการพิจารณาและต้องเก็บสินค้าออกจากตลาด
(13) การอนุมัติให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ยี่ห้อ Vuse อาจถูกเพิกถอนได้ในอนาคต หากพบมีผู้ที่ไม่เคยใช้ยาสูบ (สูบบุหรี่) มาก่อน รวมถึงคนหนุ่มสาว ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ. – สำนักข่าวไทย