สำนักข่าวไทย 15 มิ.ย.-คณบดีศิริราชแจง 4 สายพันธุ์โควิด ทุกตัวมีการเปลี่ยนตำแหน่ง ที่เป็นสาเหตุให้ไวรัสแพร่เร็ว และมี 2 ตัว ได้แก่ สายพันธุ์เบตา และแกรมมา ที่ทั้งเร็วและหลบภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีสายพันธุ์ใดที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ชี้วัคซีนยังคุมไวรัสได้อยู่ แนะเร่งฉีดเพื่อสร้างภูมิก่อนไวรัสเปลี่ยนแปลง ย้ำการเปิดประเทศต้องมั่นใจไม่มีไวรัสกลายพันธุ์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก และของไทยว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,300 ล้านโดส หรือคิดเป็นอัตราการฉีดทั่วโลกร้อยละ 25 และมีการฉีดเฉลี่ยต่อวัน 35 ล้านโดส ซึ่งผลของการฉีดวัคซีนทำให้เริ่มพบอัตราการป่วยและเสียชีวิตลดลง อัตราการป่วยทั่วโลกเดิมเฉลี่ย 6 แสนคนต่อวัน ปัจจุบันเช้าวันนี้ (15 มิ.ย.) 3 แสนคน อัตราเสียชีวิตก็เช่นกัน 12,000 คนต่อวัน เหลือ 9,000 คนต่อวัน
พร้อมเปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลก โดยประทศที่มีการฉีดวัคซีนเกินร้อยละ50 ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ทำให้สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ส่วนที่อินเดียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก อัตราการฉีดวัคซีนยังน้อยอยู่ยังไม่มีผลทำให้อัตราการเสียชีวิต หรือป่วยลดลง ขณะที่ประเทศอังกฤษ แม้พบว่ามีการฉีดวัคซีนถึง 70 ล้านโดส แต่ก็พบว่าไวรัสที่พบในประเทศมีเกือบทุกสายพันธุ์ ตอนนี้พบสายพันธุ์เดลตามากที่สุด
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มาเลเซียเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 24 ก.พ. ตอนนี้ฉีดไปแล้วร้อยละ 8.7 ส่วนไทยขณะนี้จำนวนคนติดเชื้อพุ่งสูงถึง 2 แสนคน ตอนนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 6 ล้านโดส แต่อัตราการเสียชีวิตและป่วยยังไม่ลดลง แสดงว่ายังไม่เห็นผลของการฉีดวัคซีน พร้อมยกตัวอย่างประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ อย่างอังกฤษ ที่ท้ายสุดพบว่าในประเทศพบการระบาดหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่มีการแพร่อย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเลื่อนมาตรการผ่อนคลายออกไป
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สายพันธุ์โควิดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมี 4 สายพันธุ์ โดยองค์การอนามัยโลกได้มีการเปลี่ยนการเรียกสายพันธุ์ใหม่ ไม่เรียกเป็นรหัสหรือประเทศ กำหนดเรียกเป็นอักษรกรีกแทน โดยสายพันธุ์อังกฤษ ถูกเรียกเป็นสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งพบว่าตำแหน่งของไวัรัสที่มีการเปลี่ยนที่ N501Y เป็นสาเหตุให้มีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ
สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) มีการเปลี่ยนแปลง 2 ตำแหน่ง ได้แก่ N501Y มีการแพร่อย่างรวดเร็ว และตำแหน่งที่ E484K มีผลให้หลบภูมิคุ้มกัน
ส่วนเดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) พบว่า มีการแพร่ระบาดได้เร็ว สายพันธุ์ อัลฟา โดยไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง L452R และพบว่ามีการระบาดหนักในอังกฤษ
ส่วนแกรมมา (สายพันธุ์บราซิล) พบไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ L452R และ E484K ที่ทั้งแพร่ระบาดเร็วและหลบภูมิคุ้มกัน
พร้อมย้ำประสิทธิภาพและการตอบสนองของวัคซีนยังดีอยู่ โดยสายพันธุ์เดลตายังครอบคลุมไวรัสได้ร้อยละ 60 และซิโนแวค ครอบคลุมได้ร้อยละ 50 จึงอยากให้ทุกคนเร่งรับวัคซีน แต่การเปิดประเทศก็ต้องระวัง หากมีการเปิดแล้วพบคนติดเชื้อหลากหลายสายพันธุ์ก็ยากที่จะควบคุม และอาจมีผลต่อวัคซีนในอนาคต ทั้งนี้จากการติดตามสายพันธุ์ของไวรัส ยังไม่พบความรุนแรงขึ้น พบแต่การแพร่เชื้อเร็ว และหลบภูมิคุ้มกัน จึงต้องศึกษาธรรมชาติของไวรัสต่อไป .-สำนักข่าวไทย