กรุงเทพฯ 17 เม.ย. – กรมการแพทย์ จับมือ สปสช. ให้สายด่วน 1668 และ 1330 โทรติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ที่อยู่ระหว่างรอการประสานจัดหาเตียงทุกวัน จนกว่าจะหาเตียงให้ได้ เริ่มตั้งแต่ 17 เม.ย. ย้ำผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ต้องกังวล ไม่ถูกทอดทิ้งแน่นอน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ร่วมกับกรมการแพทย์ จัดระบบโดยให้สายด่วน 1330 ของ สปสช. และสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงพยาบาลที่ไปตรวจไม่มีเตียงรองรับ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64 นั้น
ล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ และอยู่ในระหว่างการจัดหาเตียง รวมประมาณ 700 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.64 เป็นต้นไป ในระหว่างที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่บ้านรอการจัดหาเตียงอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของสายด่วนทั้ง 2 สาย จะโทรไปสอบถามอาการทุกวัน จนกว่าจะประสานหาเตียงให้ได้ โดยสายด่วน 1330 จะดูแลประมาณ 400 คน และสายด่วน 1668 ดูแลอีกประมาณ 350 คน ซึ่งในส่วนของ สปสช.ได้ระดมกำลังผู้บริหารและบุคลากรของ สปสช. ช่วยเสริมกำลังเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 ในการโทรติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังรอเตียงทุกวันด้วย
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เข้าใจสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังหาเตียงไม่ได้ ซึ่งในระหว่างที่รอการจัดหาเตียงอยู่ที่บ้านนั้น ท่านอาจเกิดความกังวลใจต่างๆ นานา อย่างไรก็ดี ขอให้ความมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ทอดทิ้งให้ท่านอยู่ตัวคนเดียว ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.64 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่ของสายด่วนจะโทรไปสอบถามติดตามอาการทุกวัน เพื่อรับฟังหรือให้คำปรึกษาในเรื่องที่ท่านกังวล ขอให้มั่นใจว่า แม้จะยังไม่มีเตียงในโรงพยาบาล แต่ท่านยังอยู่ในการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดเวลา
“จากการดำเนินการในวันนี้ ได้มีการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยที่ยังรอเตียงอยู่ประมาณ 50% แล้ว ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยที่ไม่มีอาการและยังรอเตียงอยู่ ก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดตามอาการของท่านทุกวัน จนกว่าจะได้เตียง นอกจากนี้ ในกรณีที่หากระหว่างรอการจัดหาเตียงแล้วผู้ติดเชื้อมีอาการหนักขึ้นมา ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ สามารถโทรเข้ามาที่สายด่วน 1668 หรือ 1330 เพื่อแจ้งอาการ และทางเจ้าหน้าที่จะประสานรถไปรับตัวถึงที่บ้าน เพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป แต่ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการใดๆ ทางสายด่วนก็จะเร่งประสานหาเตียงให้ได้โดยเร็วที่สุดเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ยังเปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้ป่วยรายหนึ่งโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดีย (facebook) เมื่อวันที่ 16 เม.ย.64 ว่าตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ผ่านไป 7 วันแล้ว กลับไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลให้เหตุผลว่า เตียงเต็ม กำลังประสานงาน และให้รอก่อน ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยรายนี้เริ่มมีอาการหายใจติดขัด ไม่สามารถกลั้นหายใจได้ และรู้สึกต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน โดย นพ.จเด็จ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ซึ่งเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลที่ทำการตรวจคัดกรองเตียงเต็มไม่สามารถรับผู้ป่วยในเพิ่มได้ ได้ทำการประสานหาเตียงให้ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแล้ว และได้จัดรถไปรับตัวมายังโรงพยาบาล ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ของวันที่ 17 เม.ย.64 แล้ว
ขณะเดียวกัน นอกจากตัวผู้ป่วยแล้ว ยังมีแฟนสาวของผู้ป่วย ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน โดยเมื่อคืนนี้ แฟนสาวได้ปฏิเสธการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าของวันที่ 17 เม.ย.64 พบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ทางโรงพยาบาลจึงได้รับตัวเข้ามารักษาแล้ว โดยจัดให้อยู่ห้องเดียวกับแฟนหนุ่มนั่นเอง
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอการจัดหาเตียงในโรงพยาบาลให้นั้น อาจเกิดความกังวลใจต่างๆ นานา อย่างไรก็ดี ขอให้มั่นใจว่า ท่านไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตัวคนเดียว แม้จะอยู่ที่บ้านในช่วงรอการประสานหาเตียง เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. และสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ จะโทรไปสอบถามอาการทุกวัน จนกว่าจะประสานหาเตียงให้ได้ และหากอาการเปลี่ยนแปลงก็จะประสานรับตัวเข้ารักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลทันที. – สำนักข่าวไทย