สธ. 20 ม.ค. – “หมอยง” แจงวัคซีนในท้องตลาด ย้ำขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้บริโภค โดยเทคโนโลยี mRNA เป็นเทคโนโลยีใหม่ ไม่เคยใช้ในมนุษย์ ส่วนไวรัสเวกเตอร์ และเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีเดิม มีความปลอดภัยสูง เคยใช้ในมนุษย์มาก่อน พร้อมแนะการรับวัคซีนโควิดคู่ขนานกับวัคซีนอื่น เช่น ปอดอักเสบ หรือไข้หวัดใหญ่ ทำได้ แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบภายหลัง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ผลิต เนื่องจากมีจำนวนจำกัด และเป็นที่ต้องการ มีราคาแพง พร้อมอธิบายประเภทของวัคซีนที่มีอยู่ทั่วโลกว่ามีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ 1. กลุ่ม mRNA เป็นกลุ่มวัคซีนใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ใช้รหัสพันธุกรรม หรือจำลอง RNA เข้าไปในร่างกายของมนุษย์ และสร้างโปรตีนเหมือนหนามแหลมของไวรัส กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้ไวรัสไปเกาะเซลล์ เทคโนโลยีนี้เป็นของไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา ยังไม่เคยมีการฉีดในมนุษย์มาก่อน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ส่วนวัคซีนอีกชนิดสร้างจากไวรัสเวกเตอร์ เป็นเทคโนโลยีของ แอสตราเซเนกา ที่เป็นการนำ RNA ไปฝากไว้ในไวรัส และสร้าง Antinovirus ขึ้น เปรียบได้รับไวรัสที่ถูกทำหมันแล้ว เมื่อเข้าไปในร่างกายมนุษย์จะไม่แบ่งตัว ฉีดเข้าไปร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ มีความปลอดภัย เพราะเคยใช้กับมนุษย์มาก่อน เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีนอีโบลา และไวรัสเวกเตอร์นี้ก็มีการผลิตในบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ด้วยเช่นกัน แต่ไวรัสเวกเตอร์นี้ยังไม่ถูกทำหมัน ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีมีความแตกต่างกัน ส่วนวัคซีนในท้องตลาดอีก 1 ชนิด คือ วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย หรือของบริษัท ไซโนแวค เป็นการนำเชื้อไวรัสมาเลี้ยงในห้องชีวนิรภัย จากนั้นทำให้ไวรัสนี้ตาย และนำมาผลิตวัคซีน เป็นเทคโนโลยีเก่า มีความปลอดภัย เพราะมีการใช้กันมา 70 ปีแล้ว เช่น การผลิตวัคซีนโปลิโอ เป็นต้น เมื่อฉีดวัคซีนเชื้อตายนี้เข้าไป ร่างกายจะกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับร่างกายของคนเรา ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องการฉีดวัคซีนแบบฉุกเฉิน ก็หมายความว่า ต้องมีการพิจารณาเป็นการเร่งด่วน จึงเป็นสาเหตุให้ตลาดวัคซีนกลายเป็นของผู้ผลิต และยังไม่มีใครสามารถรับรองความปลอดภัยได้ทั้งหมด จึงต้องมีการติดตามความปลอดภัย ตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 1 ปี การติดตามอาการ มีตั้งแต่อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมอาการไม่พึงประสงค์ หมายถึง อาการไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ต้องมีการติดตามผลกระทบรอบด้าน บางคนรับวัคซีนแล้วตกท่อตาย ยังต้องสอบสวน เพราะการรับวัคซีนอาจทำให้เวียนศีรษะ เป็นอาการข้างเคียง การพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การรับวัคซีนไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นการทำให้เมื่อได้รับเชื้อ มีอาการของโรคลดลง อัตราตายลดลง เหมือนอย่างการรับวัคซีนคอตีบ ที่ไม่ป่วย แต่อาจได้รับเชื้อได้ พร้อมย้ำว่า การศึกษาวัคซีนนี้ ปัจจุบันไม่มีการฉีดให้คนท้อง หรือหญิงตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีการกำหนด เนื่องจากโรคนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน และการทดลองวัคซีนยังไม่สิ้นสุด การรับวัคซีนต้องรับถึง 2 เข็ม หรือ 2 โดส แต่เด็กยังต้องพิจารณาปริมาณที่เหมาะสม มีตั้งแต่ 1 โดส หรือครึ่งโดส ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการฉีดก็เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสม คำนวณจากจำนวนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และบุคลากรทางการแพทย์ ประมาณ 13-14 ล้านคน เมื่อรับคนละ 2 โดส ก็เท่ากับ 26 ล้านโดส และกล่าวว่า ในการให้วัคซีนโควิด จะไม่มีผลกับการรับวัคซีนระบบทางเดินหายใจอื่น ทั้งไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ แต่ต้องเป็นเทคโนโลยีเดิมเท่านั้น เพราะหากได้รับวัคซีนใหม่เข้าไป อาจทำให้เกิดความสับสนกรณีได้รับผลกระทบจากวัคซีน. – สำนักข่าวไทย