สสส.2 ก.ย.-สสส.จับตาสุขภาพคนไทย พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนเมือง-กรุงเทพฯ–ภาคกลาง เสี่ยงเสียชีวิตสูงสุด เผยกินผัก-ผลไม้ 400 กรัม/วัน ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยลดเสี่ยง แพทย์ชี้สาเหตุเกิดจาก “พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค” แนะ ปรับพฤติกรรมการกิน ตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการ
จากการเสียชีวิตของ แชดวิก โบสแมน ผู้รับบทกษัตริย์ทีชาล่าในภาพยนตร์เรื่อง “Black Panther” ที่เสียชีวิตด้วยวัย 43 ปี โดยทวิตเตอร์ของแซดวิกรายงานว่า ได้ต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะที่ 3 มากว่า 4 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในระยะที่ 4
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลของรายงานจับตาพฤติกรรมสุขภาพคนไทย หรือ ThaiHealth Watch ร่วมกับ สำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ รวบรวมสถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย โดยในปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561
ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จากรายงาน Food and Agriculture Organization and the World Health Organization (FAO/WHO) พบว่า การบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยรายงานวิจัยด้านอาหารโภชนาการและการออกกำลังกายกับการป้องกันมะเร็ง (The Continuous Update Project : CUP) ปี 2561 พบความสัมพันธ์ระหว่างธัญพืช ผัก และผลไม้ต่อความเสี่ยงของมะเร็ง พบว่า การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น
รศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์หน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากความผิดปกติของผนังลำไส้ใหญ่ เกิดได้ทั่วไปในคนธรรมดา แต่มี 3 สาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ 1. พันธุกรรม อาทิ ยีนผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง 2. พฤติกรรมเสี่ยง อาทิ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีกิจกรรมทางกาย และการรับประทานอาหารบางชนิด และ 3. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนไทยที่เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า มาจากพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรม
สำหรับประเทศไทยพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเขตเมืองมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่คล้ายตะวันตก ผักน้อย เน้นเนื้อ และมีไขมันสูง รวมถึงภาวะอ้วน จึงควรเพิ่มการ รับประทานผัก ลดการกินเนื้อแดง และปิ้งย่าง
“ก่อนที่มะเร็งจะกลายพันธุ์มาจากติ่งเนื้อในลำไส้ใช้เวลาหลายปี จึงเป็นช่วงที่แพทย์และผู้ป่วยอยากตรวจเจอให้เร็วที่สุด เพราะสามารถรักษาให้หายได้ แต่การเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วงต้นอาจจะไม่แสดงอาการ มีเลือดออกปนกับอุจจาระก็อาจจะไม่สังเกตเห็น หรือบางกรณีก็ไม่มีเลือดออกจึงรู้ตัวเมื่อมีอาการเมื่อช่องลำไส้ตีบลง เมื่อถึงระยะนี้ก็จะรักษาให้หายยาก แนะนำให้ตรวจคัดกรองก่อนมีอาการ ซึ่งมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ 1. การตรวจอุจจาระเพื่อหาสารปนเปื้อนหรือเลือด ซึ่งวิธีนี้ทาง สปสช. มีโครงการสุ่มตรวจประชาชนเพื่อคัดกรองมะเร็งแล้ว 2. การส่องกล้องเพื่อดูและตัดติ่งเนื้อ และ 3. การทำ CT Scan พิเศษส่วนลำไส้” รศ.นพ.ม.ล.ทยา กล่าว
ทั้งนี้ Thaihealth watch 2564 ในเดือนธันวาคม 2563 นี้ ได้จัดทำข้อมูลจากการเชื่อมโยงสถานการณ์สถิติสุขภาพที่สำคัญ พร้อมจับกระแสความสนใจที่มีการพูดถึงในสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในรอบ 1 ปี และข้อแนะนำที่มีต่อประเด็นทางสุขภาพจากการทำงานของ สสส. ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและข้อเสนอแนะทางสังคม .-สำนักข่าวไทย