28 มี.ค.- กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานอาฟเตอร์ช็อกแล้ว 21 ครั้ง นักวิชาการระบุ พลังงานของแผ่นดินไหวลดลงตามลำดับ แต่ที่น่าห่วงคือ โครงสร้างของอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสูงในกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยารายงาน การเกิดแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) ในเวลา 18.40 น. โดยระบุว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 13.20 น. ศูนย์กลางบริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ล่าสุดมี อาฟเตอร์ช็อก แล้ว 21 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 เวลา 13.32 น. ขนาด 7.1
ครั้งที่ 2 เวลา 13.45 น. ขนาด 5.5
ครั้งที่ 3 เวลา 14.24 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 4 เวลา 14.37 น. ขนาด 5.2
ครั้งที่ 5 เวลา 14.42 น. ขนาด 3.9
ครั้งที่ 6 เวลา 14.50 น. ขนาด 3.5
ครั้งที่ 7 เวลา 14.57 น. ขนาด 4.7
ครั้งที่ 8 เวลา 15.21 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 9 เวลา 15.45 น. ขนาด 3.7
ครั้งที่ 10 เวลา 15.52 น. ขนาด 3.8
ครั้งที่ 11 เวลา 16.06 น. ขนาด 4.2
ครั้งที่ 12 เวลา 16.11 น. ขนาด 3.8
ครั้งที่ 13 เวลา 16.26 น. ขนาด 4.3
ครั้งที่ 14 เวลา 16.30 น. ขนาด 4.5
ครั้งที่ 15 เวลา 16.55 น. ขนาด 4.9
ครั้งที่ 16 เวลา 17.28 น. ขนาด 3.1
ครั้งที่ 17 เวลา 17.30 น. ขนาด 4.1
ครั้งที่ 18 เวลา 17.50 น. ขนาด 3.0
ครั้งที่ 19 เวลา 17.53 น. ขนาด 2.8
ครั้งที่ 20 เวลา 17.59 น. ขนาด 4.0
ครั้งที่ 21 เวลา 18.10 น. ขนาด 3.3
ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาลดลงตามลำดับ โดยพลังงานลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม แม้ตัวแผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) จะเป็นแผ่นดินไหวใหญ่มีขนาด 8.2 ก็ตาม
สำหรับสิ่งที่ต้องระวังคือ ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสูงในกรุงเทพมหานครเนื่องจากตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน ดังนั้นขณะนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องความรุนแรงของ Aftershock แต่จำเป็นต้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารเพื่อความปลอดภัย .-สำนักข่าวไทย