30 มี.ค. – นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เตือนเฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกในไทย มีอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่แนวโน้มจะเบาลง แนะต้องอยู่และรับมืออย่างเข้าใจ
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี เทียบจากเมื่อปี 1930 ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ขนาด 7.5 สาเหตุในครั้งนี้ อาจารย์เสรี ชี้ว่าจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ส่วนเรื่องอาฟเตอร์ช็อกที่ประชาชนกังวลกันอยู่นั้น ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง แต่หากเทียบจากเหตุแผ่นดินไหวในอดีต หากการสั่นไหวรุนแรงระดับนี้อาจจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา 700-1,000 ครั้ง
หลังแผ่นดินไหวครั้งแรกที่เมียนมา ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาใน 12 นาที ด้วยขนาด 6.4 ถือว่ารุนแรงมาก แต่สิ่งที่ต้องจับตามองขณะอาจไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อก เนื่องจากขนาดของความสั่นสะเทือนจะน้อยกว่าขนาด 7.7 แต่เรื่องที่ต้องจับตาคือ เมนช็อกในบริเวณอื่น เนื่องจากเมียนมาเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เพราะเป็นจุดที่ตั้งของรอยเลื่อนสะกาย และอาฟเตอร์ช็อกยังคงจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 2-3 เดือนจากนี้
ส่วนเรื่องโครงสร้างอาคารในประเทศไทย มีกฎกระทรวงให้รับอัตราเร่งได้ในระดับ 0.08-0.14 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้เกิดอัตราเร่งในระดับ 0.24 ใน จ.เชียงใหม่ เจออัตราเร่งในระดับ 0.05 G และเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ จะมีอัตราแรงสั่นสะเทือนที่ลดลงตามลำดับ แต่ที่น่ากังวลคือ กรุงเทพฯ อยู่ในบริเวณเนื้อดินอ่อน ดังนั้น โครงสร้างอาคารหลัก คือ คาน เสา และพื้น ที่ก่อสร้างหลังมีประกาศกฎกระทรวงออกมาแล้ว ถือเป็นอาคารที่ไม่น่ามีความกังวล (อาคารที่ก่อสร้างในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) แต่สำหรับอาคารที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่ไม่สมบูรณ์ เป็นเรื่องธรรมดาที่ก่อให้เกิดการพังทลายลงมาได้
ทั้งนี้ การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต่อจากนี้ควรรอบคอบ มีสติตลอดเวลา แม้อาฟเตอร์ช็อกจะลดระดับความรุนแรงลง แต่จากนี้คนไทยควรทำความเข้าใจข้อปฏิบัติในการระวังตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อย่างการหลบใต้โต๊ะ และพาตนเองไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง.-สำนักข่าวไทย