อ.เสรี ไขคำตอบ “แผ่นดินไหว รับรู้ไกลนับ1,000 กม.” อาจเผชิญอาฟเตอร์ช็อกถึง 1,000 ครั้ง

แผ่นดินไหว

1 เม.ย. -รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวไทย ไขคำตอบความรุนแรงของแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 เมื่อ 28 มีนาคม 2568 – ระยะเวลาเผชิญอาฟเตอร์ช็อก – การเตรียมตัวของคนไทยรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลกต่อจากนี้


ไขคำตอบ! “คนกรุงเทพฯ รับรู้แรงสั่นไหว เท่าคนเชียงใหม่ ทั้งที่ไกลกว่า 1,000 กม.”

อ.เสรี ระบุว่าแผ่นดินไหวขนาด 8.2 เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลังที่อยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุด และนี่คือการเคลื่อนตัวในรอบ100-200 ปี ในลักษณะแนวราบ แม้ว่าห่างจากกรุงเทพมหานครนับพันกิโลเมตร แต่การรับรู้แรงสั่นสะเทือนขึ้นอยู่กับธรณีสันฐาน ซึ่งคนที่อยู่เชียงใหม่สามารถรับรู้ได้เท่ากับคนกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ เป็นธรณีสันฐานแบบชั้นดินอ่อน ซึ่งจะเพิ่มขนาดของคลื่น 2-3 เท่าตัว เปรียบภาพเหมือนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนฟองน้ำ เมื่อมีการทุบพื้นรอบฟองน้ำ ฟองน้ำก็จะกระเพื่อมด้วย แต่หากบ้านเรือนตั้งอยู่บนดิน เมื่อทุบรอบดิน แรงสะเทือนจะไม่กระเพื่อมเท่าอยู่บนฟองน้ำ เป็นเหตุให้กรุงเทพฯ อ่อนไหว ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นลักษณะคลื่นความถี่ต่ำ จะมีผลต่อตึกสูง จึงพบเห็นการโยกของตึก


ส่วนที่เมียนมา แรงสั่นสะเทือน ณ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ที่ระดับ 9 – 10 (ระดับอันตรายสูง) จาก 12 ระดับ แต่ที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 4-5 ในทางสากลประเมินว่าระดับนี้ ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงต่อชิวิตและทรัพย์สินโดยรุนแรง จึงเป็นคำถามว่า “ทำไมตึก สตง.จึงถล่มเพียงตึกเดียว?” นี่คือปริศนาที่ต้องรอคำตอบ

ขอบคุณภาพ จาก เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อก 500–1,000 ครั้ง ยาวนาน 2-3 เดือน
ข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานล่าสุด เวลา 10.00 น. วันที่ 1 เม.ย.68 เกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้ว 237 เหตุการณ์ หลังเกิดแผ่นดินไหว เมื่อ 13.20 น.วันที่ 28 มี.ค.68


ขอบคุณภาพ จากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

อ.เสรี อธิบายว่า แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับ 7 ขึ้นไป มีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้มากถึง 500-กว่า 1,000 ครั้ง แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกมีความเป็นอิสระสูง และอาจกินเวลานานถึง 2-3 เดือน แต่ความเสียหายจะไม่มากเท่าเมนช็อก ซึ่งความรุนแรงจะลดลงไปตามลำดับ เช่นกันกับแผ่นดินไหว (เมนช็อก) จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะมีโอกาสเสมอ และประเทศไทยโชคดีที่ไม่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ มีแต่รอยเลื่อนแขนง

“การไม่มีระบบเตือนภัย ทำให้คนไทยตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก”
ต้องยอมรับว่า การแจ้งเตือนภัย คือสิ่งที่ไทยต้องปรับปรุง หน่วยงานแรก ที่ต้องแจ้งข้อมูล คือ กรมอุตุนิยมวิทยาต้องประกาศออกมาทันที เพราะศูนย์เตือนภัยทั่วโลกประกาศออกมาแล้ว แต่กรมอุตุฯ มีการประกาศในเว็บไซต์เวลา 13.36 น.ล่าช้าจากเวลาเกิดเหตุไป 16 นาที ข้อความ SMS ก็ช้ามาเช่นกัน

แนวปฏิบัติที่ควรจะเป็นคือ กรมอุตุฯ ประกาศไปยังปภ. และส่งต่อไป กสทช.
แม้ กสทช. จะชี้แจงว่า ข้อความส่งได้จำนวนจำกัด สิ่งที่ กสทช.ต้องชี้แจงต่อคือ มีแผนรองรับหรือไม่? รวมถึง ณ เวลาเกิดเหตุ มีปัญหาเรื่องโครงข่าย สัญญาณโทรศัพท์โทรไม่ได้ โทรไลน์ก็ไม่ได้

ขอบคุณภาพ จาก เฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

“เตรียมตัวรับแผ่นดินไหว – อาฟเตอร์ช็อกอย่างไรดี ?”
สำหรับอาคาร บ้านเรือน กฎกระทรวง เรื่องการสร้างตึกให้รองรับแผ่นดินไหว ไม่ได้กำหนดว่าต้องสร้างให้รับแรงแผ่นดินไหวขนาดเท่าไหร่ เพียงแต่กำหนดอัตราเร่ง อย่างไรก็ตาม หากออกแบบตามกฎกระทรวงแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าปลอดภัย

ส่วนอาคารที่ได้รับความเสียหาย จากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่อาฟเตอร์ช็อก อาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต้องลงพื้นที่ตรวจอย่างละเอียด พร้อมแนะนำว่า ต้องกำหนดไทม์ไลน์ว่าตรวจเสร็จเมื่อใด เพื่อให้ประชาชนวางแผนชีวิต เนื่องจากยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถกลับเข้าคอนโดฯ ได้

สำหรับประชาชน เมื่อเผชิญเหตุการณ์และอยู่ในภาวะตื่นตระหนก วิธีปฏิบัติสากลคือต้องหลบอยู่ใต้โต๊ะ จนตัวเองไม่รู้สึกสั่นไหว แล้วค่อยออกจากอาคาร เพราะหากวิ่งออกทางประตูจำนวนมาก อาจเกิดจากเหยียบกันจนบาดเจ็บได้

ขอบคุณภาพ จากเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

แผ่นดินไหวครั้งนี้ สอนเราว่า “ความรู้สำคัญมาก”
อ.เสรี ทิ้งท้ายว่า ภัยคุกคามจากสิ่งแวดล้อม ล้วนใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ ต้องเรียนรู้อยู่กับเขาให้ได้ การมีองค์ความรู้สำคัญมาก เป็นเรื่องความปลอดภัยของเรา อย่าปฏิเสธที่จะเรียนรู้ อย่าปฏิเสธวิทยาศาสตร์ อย่าหยุด อย่ายอมแพ้ และการซ้อมหนีภัยยังสำคัญ . -918 สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

พ่อขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม

พ่อของหนุ่มขอนแก่น วัย 35 ปี หนึ่งในผู้สูญหายจากอาคาร สตง.ถล่ม ขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิต ส่วนหนุ่มช่างประปา วัย 32 ปี เหยื่อตึก สตง.ถล่ม เผาแล้ว แม่ยังทำใจไม่ได้ สะอื้นไห้หน้าเมรุ

“ชัชชาติ” เผยเตรียมกู้ 5 ร่างที่พบ-ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน

ผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมกู้ 5 ร่าง จาก 14 ร่างที่พบ ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน ยันไม่ขีดเส้นตายหยุดช่วยเหลือ ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น