ก.แรงงาน 13 พ.ค. – ปลัดแรงงาน เผยจะนำข้อเสนอทั้งฝั่งภาคเอกชนที่คัดค้าน และฝั่งแรงงานที่หนุนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 เท่ากันทั่วประเทศ เข้าที่ประชุมไตรภาคีพรุ่งนี้ ถามความเห็นมติระดับจังหวัดก่อน แต่ยืนยัน 1 ต.ค.นี้จะทยอยปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้ได้ทั่วประเทศ แนวโน้มแบ่งตามประเภทธุรกิจที่พร้อม
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยื่นหนังสือต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีตามกลไกของคณะกรรมกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี โดยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานรับข้อร้องเรียนและข้อเสนอจากทั้งส่วนของผู้ประกอบการและฝั่งของลูกจ้าง และจะนำข้อหารือต่างๆ เข้าที่ประชุมไตรภาคีในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) ซึ่งยืนยันว่าจะต้องมีการหารือกันอีกหลายครั้ง ก่อนจะออกมาเป็นมติว่าจะมีรายละเอียดการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะมีทยอยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่อาจจะดูความพร้อมของแต่ละกิจการธุรกิจด้วย ซึ่งการประชุมกับผู้ประกอบการวันนี้ ตนดีใจที่ผู้ประกอบการก็ต่างเห็นด้วยที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่อาจจะมีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วย คือการขึ้นในอัตราเท่ากันเริ่มต้น 400 บาททั่วประเทศ ยืนยันว่าจะคำนึงถึงผลกระทบต่อทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และจะมีการขอมติผ่านตามกลไกไตรภาคี ที่จะมีอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างระดับจังหวัด ที่จะเสนอขอความเห็นไปว่าแต่ละจังหวัดธุรกิจใดมีความพร้อมก่อน โดยพรุ่งนี้อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรายละเอียดชัดเจน แต่การประชุมไตรภาคีจะมีขึ้นเดือนละหนึ่งครั้ง คาดว่าจะมีแนวทางชัดเจนได้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ด้าน ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยินดีที่จะช่วยรัฐบาลในการยกระดับรายได้ของแรงงาน แต่ขอให้ฟังผลกระทบในหลายๆ ด้าน โดยหากยังยืนยันที่จะขึ้น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ จะกระทบ เช่น เอสเอมอี ค้าปลีกค้าส่ง ตลาดสด แรงงานภาคเกษตร ซึ่งใช้แรงงานเป็น 10 ล้านคน ที่ต้องใช้เวลาปรับตัวแต่หากธุรกิจใดที่พร้อมก็ค่อยๆ ปรับไป โดยเฉพาะกับสมาคมค้าปลีกตลาดสดที่บอกว่าถ้าวันนี้ขึ้น 400 บาท เจ้าของธุรกิจนี้กว่า 80% จะอยู่ไม่ได้ และการยื่นหนังสือครั้งนี้ ที่หอการค้าจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ยื่นหนังสือคัดค้านพร้อมกัน รวมถึงสมาคมการค้า 92 สมาคม ที่ประกอบด้วยเจ้าของโรงงานผู้ประกอบการกว่า 1.5 หมื่นบริษัท ยื่นพร้อมกัน โดยสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีตามระบบกลไกไตรภาคี ที่มีการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต และความสามารถของธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด
โดยตัวแทนภาคเอกชน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจว่าการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นนโยบายรัฐบาล แต่ทางภาคเอกชนก็ย้ำว่า การปรับขึ้นมีกลไลการปรับขึ้น ควรคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย เพราะต้องยอมรับว่าแม้หลังผ่านวิกฤตโควิดแต่หลายธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวดี และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ ปรับมาแล้ว 2 ครั้ง คือ 1 ม.ค.67 และ 13 เม.ย.67 หากจะปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้ มองว่าไม่สมเหตุสมผลในช่วงเวลา ตามดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามภาคเอกชนยินดีจะให้ความร่วมมือว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อทั้งกิจการผู้ประกอบการและลูกจ้างให้อยู่ได้
ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา บรรยากาศที่หน้าอาคารกระทรวงแรงงาน มี ตัวแทนจากกลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สรส. รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั้งประเทศและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานและเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าและให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ครอบคลุมทั้งลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนและคนทำงานภาคบริการเพื่อความเป็นธรรม พร้อมกับนำสินค้าของกินของใช้พร้อมติดราคาที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องค่าครองชีพด้วย และต้องการสื่อว่าสินค้าต่างๆ พาเหรดกันปรับขึ้นราคาส่งผลกระทบเท่ากันทั้งประเทศ แต่เหตุใดการปรับขึ้นค่าจ้างจึงไม่เท่ากัน. -417-สำนักข่าวไทย