สภาการศึกษา 15 ส.ค.-คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเตรียมรับฟังความเห็นประชาชน ก่อนร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ทุกภาคส่วนแสดงความเห็นทั้ง 4 ภาค
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 12/2560 ว่า พรุ่งนี้(16 ส.ค.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(คกปศ.) จะมีการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง ข้อเสนอประเด็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาก่อนนำไปร่างเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในการปฏิรูปการศึกษา โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ภาคีเครือข่ายมา ครู อาจารย์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษามาแสดงความคิดเห็น อาทิ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการกฤษฎีกา / นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยคาดว่า ข้อคิดเห็นต่างๆจะมาเป็นแกนหลักในการต่อเติมแนวคิดเพื่อให้การปฏิรูปมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เพราะอย่างประเทศฟินแลนด์ ที่ปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยพรุ่งนี้จะเปิดเวทีแรกที่กรุงเทพมหานคร ก่อนที่คณะกรรมการจะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภาค และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiedrefrom.org หรือเพจเฟสบุ๊คร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย
นพ.จรัส กล่าวว่า ขณะเดียวกันวันนี้ที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นที่ต้องการแลกเปลี่ยนกับผู้ทรงคุณวุฒิและเสนอผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ 5 ด้านคือด้านเด็กเล็ก ด้านกองทุนการศึกษา ด้านครูและอาจารย์ ด้านการเรียนการสอนและด้านการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยด้านเด็กเล็กได้กำหนดคำจำกัดความของการศึกษาระดับปฐมวัย เริ่มตั้งแต่การก่อนตั้งครรภ์หรือปฏิสนธิจนถึง 8 ขวบ เมื่อความหมายของเด็กเล็กกว้างขึ้น สิทธิประโยชน์และการดูแลที่เด็กจะได้รับก็เพิ่มมากขึ้น และอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเด็ก // ด้านครูและอาจารย์ หากแบ่งย่อยแล้ว บุคคลที่ต้องพัฒนาในด้านนี้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ครู อาจารย์ ผู้อำนวยการสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรเพื่อคัดกรองและพัฒนาบุคคลที่จะมาเป็นครูที่ดีและเก่ง และได้ผู้บริหาร ที่มีความสามารถ ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่
ด้านการยกระดับการเรียนการสอน หัวใจสำคัญคือหลักสูตร สื่อการสอน การวัดประเมินผลและการประกันคุณภาพการศึกษา ปัญหาแรกที่ต้องแก้ไขให้ได้คือ เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จึงต้องทำแบบคัดกรอง ออก แบบฝึกหัด และให้ครูสอนแบบเชิงรุก นำสื่อการเรียนที่มีมาเชื่อมโยงกับการปฏิบัติเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ กำหนดให้โรงเรียนมีมาตรฐานและคุณภาพมากขึ้น ส่วนการส่งเสริมหลักสูตรที่ให้เด็กเรียนตามความถนัด จะปรับให้มีความยืดหยุ่นและเฉพาะทางสำหรับผู้เรียนทั้งในและนอกระบบ ส่วนด้านโครงสร้าง เน้นรองรับการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิรูปการศึกษา โดยยึดโรงเรียนหรือหน่วยการศึกษาเป็นจุดเริ่มต้น มีการกระจายอำนาจ แยกผู้กำหนดนโยบายออกจากผู้ปฏิบัติงานเพื่อถ่วงดุลย์.-สำนักข่าวไทย