วัดมหาธาตุฯ1 ธ.ค. – รัฐบาลเชิญชวนรับปีใหม่ ด้วยงานเฉลิมฉลองงานสมโภชพระอาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ครบ 338 ปี 27 ธ.ค.-2 ม.ค. เปิดให้ศึกษาประวัติศาสตร์และสวดมนต์ข้ามปี
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดม่านงานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ว่าระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 เป็นงานเฉลิมฉลอง 338 ปี วัดนี้ มีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งไม่เคยเปิดให้ใครมาก่อน และงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี 2567 และเพื่อรำลึกถึงบูรพกษัตริย์และบูรพาจารย์ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาเที่ยวงานนี้ ซึ่งผู้จัดงานตั้งใจจะเปิดวัดนี้ให้เป็นที่รู้จักทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมและสักการบูชา ซึ่งในงานจะมีการสมโภชและมีกิจกรรมทุกวัน รวมถึงจะมีการสวดมนต์ข้ามปี ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวมทั้งยังมีนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเดินตามเส้นทางท่องเที่ยว ไหว้พระ-ขอพร รับปีใหม่ 2567 ด้วยการชมสถาปัตยกรรม ศิลปะวัด-วัง ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และพระพุทธศาสนา เริ่มต้นประตูทางเข้า ฝั่งถนนพระจันทร์-สนามหลวง
จุดแรก พบกับ 3 สถานที่สำคัญ ได้แก่ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วิหารโพธิ์ลังกา พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า โพธิ์ลังกา ที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณ 205 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ส่งคณะพระสงฆ์สมณทูตไทยออกไปสืบพระศาสนาในลังกาทวีป เป็นเวลาประมาณ 5 ปี และในตอนกลับ ได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากเมืองอนุราธบุรี ประเทศศรีลังกา มาปลูก ในปี พ.ศ.2361 นับเป็นครั้งแรกที่นำต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาเข้ามาปลูกในกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนวิหารโพธิ์ลังกา เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงพระผนวช ขณะที่พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ปี 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระบวรราชานุสาวรีย์ มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเหนือพระอุระเพื่อจบถวายเป็นพุทธบูชา ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพเข้ามาทั้งสิ้น 28 แห่ง
จุดที่สอง ตึกแดง หรือ ตึกถาวรวัตถุ หอสมุดวชิราวุธ ชมสถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5 กราบสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งบริเวณด้านหลังเป็นอาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9
จุดที่สาม ศาสนสถานที่สำคัญ คือ เขตพุทธาวาสของวัด 3 แห่ง ได้แก่ พระมณฑปพระธาตุ พระอุโบสถ พระวิหาร เริ่มจากพระมณฑปพระธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ส่วนบนของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนใต้ฐานพระเจดีย์ บรรจุพระบรมอัฐิของพระปฐมบรมมหาชนก (ต้นราชวงศ์จักรี)
อีกจุดห้ามพลาด พระอุโบสถ ถือเป็นพระอุโบสถใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ปูลาดด้วยศิลาอ่อน หน้าบันเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ใบเสมาสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงสุบรรณอยู่ด้านในพระอุโบสถ ด้านนอกตามมุมทั้ง 4 สลักเป็นภาพครุฑยุดนาค ภายในมี “พระศรีสรรเพชญ” พระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระอรหันต์ 8 ทิศ แล้วเดินเข้าพระวิหาร กราบพระประธานพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ และหลวงพ่อหิน พระพุทธรูปศิลาแลงเก่าแก่ที่สุด
เดิมวัดมหาธาตุฯ ชื่อวัดสลัก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันอายุกว่า 338 ปี เมื่อครั้งตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรฯ อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารหลวงจนถึงทุกวันนี้
อีกหลักฐานเก่าแก่ที่สุด ควรค่าการเข้าชม คือ แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา (พิชัยสงคราม) จารึกเป็นอักษรสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏปีที่สร้าง พ.ศ. 2228 เป็นเครื่องแสดงว่า วัดนี้มีอายุ 338 ปี ภายในพระวิหารมีพระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่สังคายนาสมัย ร.1 และผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ให้ชมอีกด้วย.-312 สำนักข่าวไทย