ภูเก็ต 6 ต.ค. – โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตแจงการรักษาสาวกินแมงดาทะเลเสียชีวิต หลังญาติข้องใจประเด็นการดูแลรักษา ยืนยันทำตามขั้นตอน ทางโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำข้อมูลมาพูดคุยกับญาติเพื่อให้เกิดความสบายใจ
กรณีมีหญิงชาวภูเก็ตกินแมงดาทะเลและมารักษาที่ รพ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และทางโรงพยาบาลให้คนไข้กลับไปสังเกตอาการที่บ้าน หลังจากนั้นคนไข้มีอาการไม่ดีและทางญาติได้ช่วยเหลือในเบื้องต้นพร้อมกับนำส่ง รพ.วชิระภูเก็ตและคนไข้เสียชีวิตในเวลาต่อมาซึ่งทางญาติผู้เสียชีวิตยังติดใจในประเด็นการดูแลรักษาคนป่วยของทางโรงพยาบาลอบจ.นั้น
กรณีมีหญิงสาวคนหนึ่งกินแมงดาทะเลแล้วมีอาการอาเจียน มึนศีรษะอย่างรุนแรง ญาติส่งโรงพยาบาล แต่ต่อมาเสียชีวิต ขณะที่แม่ข้องใจเหตุใดโรงพยาบาลไม่ส่งต่อตัวลูกสาวเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ทั้งที่ลูกสาวมีอาการรุนแรง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตคือ น.ส.วันทนา พุดช่อ อายุ 46 ปี ครอบครัวนำร่างไปบำเพ็ญกุศลที่สำนักสงฆ์กิ่งแก้ว ต.รัษฎา โดยนางสมใจ กิ่งวงศา อายุ 64 ปี ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุได้ชวนลูกสาวไปหาหอยแครงบริเวณป่าชายเลน และเจอแมงดาทะเล 3 ตัว จึงนำกลับมาปรุงอาหาร โดยลูกสาวนำแมงดาทะเลมาเผาสดๆ 1 ตัว หลังจากรับประทานเข้าไป ลูกสาวมีอาการมึนศีรษะ อาเจียน จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
ต่อมาทางโรงพยาบาลบอกให้นำตัวลูกสาวออกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ในระหว่างเดินทางซึ่งได้แวะที่บ้านครึ่งชั่วโมง ลูกสาวเริ่มมีอาการชัก ปากเขียว มือเขียว จึงโทรเรียก 1669 เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงได้พยายามปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ตนรู้สึกเสียใจและติดใจว่าสาเหตุใดโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ไม่ช่วยทำเรื่องส่งตัวลูกสาวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ทั้งๆ ที่มีอาการหนัก สำหรับศพลูกสาวจะตั้งบำเพ็ญกุศลไปถึงวันพุธ และทำพิธีฌาปนกิจในวันพฤหัสบดีที่ 8 ต.ค.นี้
ด้าน นพ.พัลลภ เทพวงค์ หัวหน้ากลุ่มการแพทย์ โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ได้สอบถามทีมแพทย์และพยาบาลที่รับคนไข้เคสนี้แล้ว พบว่าเข้ามารักษาโดยมีอาการคันตามตัวและมีการดื่มสุรามาด้วย จึงรักษาตามอาการเบื้องต้น และได้สังเกตอาการอยู่โรงพยาบาล 1.30 ชม. คนไข้มีอาการดีขึ้น ก่อนจะปรึกษากับญาติคนไข้ โดยญาติจะรับคนไข้ไปสังเกตอาการที่บ้าน ซึ่งได้ให้คำแนะนำการดูแล โดยเชิญคุณแม่ของคนไข้เข้ามาพูดคุยถึงอาการ แต่เมื่อคนไข้เสียชีวิตแล้วญาติติดใจ ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำข้อมูลมาปรึกษากันและอยู่ในช่วงที่พูดคุยกับญาติ เพื่อให้ญาติเกิดความสบายใจ ได้ข้อมูลที่ยุติธรรมและข้อเท็จจริงมากที่สุด นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลสภาพจิตใจของญาติด้วย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำวิธีสังเกตแมงดาทะเล ซึ่งมี 2 ประเภทคือ แมงดาถ้วยหรือแมงดาไฟ หรือชาวบ้านเรียกว่า เห-รา โดยทั่วไปมีพิษ ส่วนหางจะมีลักษณะกลมๆ เรียบๆ ส่วนแมงดาจานเป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ หางจะเป็นสามเหลี่ยม
นพ.โอภาส ยังกล่าวว่า แมงดาถ้วยไม่ได้มีพิษทุกตัว มีพิษเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถแยกได้ว่าตัวใดจะมีพิษ จึงควรหลีกเลี่ยงแมงดาถ้วยไว้ก่อน อาการคนรับพิษเข้าไปจะแสดงอาการหลังรับประทานประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของแมงดาทะเล ฤดูกาล ปริมาณสารพิษที่ได้รับ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้า คลื่นไส้อาเจียน ปลายมือปลายเท้าอ่อนแรง ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง และหายใจไม่ได้จนเสียชีวิต จึงขอเตือนประชาชนไม่ควรรับประทานแมงดาถ้วย หรือ เห-รา เพราะพิษของมันไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน .-สำนักข่าวไทย