กรุงเทพฯ 3 ก.ค. – การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก วันพรุ่งนี้ (4 ก.ค.) ยังไม่มีประธานสภาฯ ที่มาจากการเลือกของสมาชิก ดังนั้น ขั้นตอนจะเริ่มจากที่ประชุมจะให้ ส.ส.ที่มีอายุสูงสุด ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม
ขั้นตอนการเลือกประธานรัฐสภา พรุ่งนี้ (4 ก.ค.) จะเริ่มจากการหาผู้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ ชั่วคราว ซึ่งตามข้อมูลขณะนี้ก็คือ พล.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ วัย 89 ปี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็น ส.ส.ที่มีอาวุโสสูงสุด พล.ท.วิโรจน์ ถือว่ามีประสบการณ์บนเส้นทางการเมือง ตั้งแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อ่างทอง ประวัติคร่าวๆ
- ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
- ปี 2543 นั่งเก้าอี้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย
- ปี 2548 แพ้การเลือกตั้งให้กับผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคไทยรักไทย
- ปี 2550 ลงสมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน ลำดับที่ 5 ในสังกัดพรรคพลังประชาชน แต่ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง
- ปี 2552 เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของรัฐสภา และได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย โดยรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
- ปี 2554 ลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 17 ของพรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการคนที่ 4 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
- ปี 2557 สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 119
- ปี 2566 สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 ซึ่งถือเป็น ส.ส.ที่อาวุโสสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้
ส่วนขั้นตอนในการเลือกประธานสภาฯ ขั้นตอนแรกจะเปิดให้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นประธานสภาฯ ต้องมีผู้รับรอง 20 คน ขั้นตอนที่ 2 ให้แสดงวิสัยทัศน์ และขั้นตอนที่ 3 เปิดให้ลงมติ ซึ่งกรณีมีการเสนอชื่อบุคคลคนเดียว ตัดขั้นตอนที่ 3 ทิ้ง คือไม่ต้องลงคะแนน โดยให้ถือว่าบุคคลนั้นได้เป็นประธานสภาฯ ส่วนกรณีมีหลายตัวเลือก นอกจากเปิดให้ลงมติ ยังต้องมีขั้นตอนการคัดเลือกกรรมการตรวจนับคะแนน ลงคะแนนโดยวิธีลับเข้าคูหา และให้ ส.ส.ลงคะแนนครั้งละ 20 คน โดยลำดับเข้าใช้สิทธิเรียงตามตัวอักษร และเมื่อลงคะแนนครบแล้ว ให้ตรวจนับคะแนน โดยผลจะขึ้นที่จอทันที จากนั้นเมื่อนับครบจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือก ซึ่งขั้นตอนการเลือกรองประธานสภาฯ อีก 2 คน ก็จะทำในลักษณะเดียวกันกับการเลือกประธานสภาฯ
ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาฯ ตามกฎหมาย ต้องเป็น ส.ส.ปัจจุบัน (ไม่กำหนดอายุขั้นต่ำ) ไม่เป็นกรรมการบริหาร หรือดำรงตำแน่งใดในพรรคการเมือง และห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่นๆ และมีบทบาทในการทำหน้าที่ ทั้งงานในสภาฯ นอกสภาฯ และการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. – สำนักข่าวไทย