เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 11 มี.ค.-ผู้นำฝ่ายค้าน เตรียมยืนกราน 3 เหตุผลยัน ปธ.สภาฯ คงชื่อ ”ทักษิณ” ในญัตติซักฟอก หวั่นเลี่ยงใช้คำอื่นจะถูกประท้วงระหว่างอภิปราย ปัดดื้อหัวชนฝา ยืนยันได้ข้อยุติภายในสัปดาห์นี้
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังคงยืนยันให้ฝ่ายค้านลบชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มิเช่นนั้นจะไม่บรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) ฝ่ายค้านจะสะท้อนเสียงไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรตามหลักการ และเหตุผลที่ฝ่ายค้านคัดค้านการแก้ไขญัตติ และเชื่อว่า ทั้ง 3 เหตุผล และตัวอย่างญัตติที่ฝ่ายค้านได้ใช้เป็นเหตุผล หลายครั้งก็มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกได้หากมีความจำเป็น จึงอยากให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ฟังเหตุผลอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจ
ส่วนการกล่าวถึงบุคคลภายนอกสามารถกล่าวได้ แต่สิ่งที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องการคือการลบชื่อนายทักษิณออกจากญัตตินั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ย้ำว่า ในหลายญัตติในอดีตที่ตนเองได้แนบไปพร้อมเอกสารคัดค้านเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) ก็มีการอ้างถึงบุคคลภายนอก
ส่วนกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุการอ้างถึงบุคคลภายนอกในญัตติขอตั้งกรรมาธิการศึกษา และญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความแตกต่างกันนั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุว่า ก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนมีอำนาจในการตีความของตนเอง แต่อยากขอให้คิดว่า ระหว่างญัตติธรรมดาที่สามารถกล่าวถึงบุคคลภายนอกได้ แต่เหตุใดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เป็นการกล่าวหามากกว่า จะไม่สามารถระบุชื่อบุคคลภายนอกได้ ซึ่งตนเองมองว่า อำนาจในการตีความต่างกัน แต่ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการให้เหตุผล
ส่วนหากประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ยินยอม ฝ่ายค้านจะยอมปรับแก้จากนายทักษิณ เป็นคำว่า บิดา หรือครอบครัวของนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ มองว่า ส่วนตัวตนเองมองว่า การใช้คำในการระบุในญัตติ อาจไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สิ่งสาระสำคัญคือกระบวนการอภิปรายในสภา เพราะหากมีการระบุชื่อนายทักษิณ ลงในญัตติอย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้ในการอภิปรายสามารถระบุชื่อนายทักษิณอย่างตรงไปตรงมาได้มากขึ้น และการประท้วงก็อาจทำได้ยากขึ้น แต่หากเลี่ยงเป็นคำอื่น ก็เกรงว่า จะมีความพยายามลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของฝ่ายค้าน ตนจึงอยากขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร วางตัวเป็นกลางในฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่ใช้อำนาจปกป้องนายทักษิณ
ส่วนจำเป็นจะต้องแก้ เพื่อให้การอภิปรายเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ย้ำว่า ฝ่ายค้าน ไม่ได้ดื้อดึง ไม่ได้พยายามสู้หัวชนฝา แต่พยายามยืนยันในหลักการ และฝ่ายค้าน ได้ส่งหลักฐานต่าง ๆ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้ว และในวันพรุ่งนี้ (12 มี.ค.) จะมีกาประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มั่นใจว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะยังมีเวลาในตัดสินใจ และไม่ว่า จะตัดสินใจตามหลักการของฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล ก็ยังมีเวลาภายในสัปดาห์นี้ โดยยืนยันว่า ภายในวันศุกร์นี้ จะมีความชัดเจน
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ยังยืนยันว่า พรรคฯ มีความพร้อมเต็มที่ในการอภิปราย และไม่ได้ลังเล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดขณะนี้ จะต้องหาข้อสรุปในญัตติจากประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาระบุฝ่ายค้านไม่ควรระบุชื่อนายทักษิณในญัตติ และไม่ยอมถอย ไม่จริงจังในการเดินหน้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยยืนยันว่า ฝ่ายค้านพร้อมเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ต้องการยืนยันหลักการของฝ่ายค้านว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจควรเปิดกว้าง เพื่อให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายได้เต็มที่
ผู้นำฝ่ายค้านฯ เพื่อมาติดตามระบบกระบวนการยุติธรรม การดูแลสวัสดิการของผู้ต้องขัง และกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ และพระราชบัญญัติการอุ้มหาย เพื่อดูแลสิทธิผู้ต้องขัง ทั้งการติดต่อกับบุคคลภายนอก เพื่อให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงระบบการพบญาติ ที่ปัจจุบันมาตรการยังไม่ตรงกัน โดยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการมาขอข้อมูลชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเตรียมนำไปประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ.-312.-สำนักข่าวไทย