สตูล 4 เม.ย. – เกษตรกรปลูกยางพาราที่สตูล ปลูกไผ่ผาก แซมร่องสวนยาง ได้น้ำยางพารามากขึ้นและเข้มข้นขึ้น แถมยังมีรายได้จากขายต้นไผ่อีกเดือนละเกือบ 2 หมื่น
นายกิติ พรมขจร ชาวบ้าน หมู่ 7 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง จ.สตูล ทำสวนยางพาราพื้นที่ 3 ไร่ ที่หมู่ที่ 8 ต.นิคมพัฒนา อ.มะนัง หลังปลูกยางได้ 3 ปี ระหว่างรอยางตัดกรีด จึงปลูกไม้ไผ่ผาก แซมร่องยาง พอเปิดกรีดหน้ายาง ไม้ไผ่ก็ได้ใช้งานพร้อมๆ กัน แต่ผลพวงจากการปลูกไผ่ ทำให้ยางพารามีน้ำยางเข้มข้นขึ้น น้ำยางออกมากขึ้นถึง 100% และหน้ายางไม่ตายนึ่ง ไม่มีเชื้อรา เพราะใบไผ่มีเชื้อราไตรโคโดมา ป้องกันโรคหน้ายางตายนึ่งและเป็นปุ๋ยอย่างดี แถมยังมีรายได้จากขายต้นไผ่อีกเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท
นายกิติ เล่าว่า มีความรู้เรื่องไผ่อยู่แล้ว ไผ่มีประโยชน์มาก แต่มีคนปลูกน้อย ส่วนใหญ่คนจะไปหาไผ่ป่าซึ่งเป็นพื้นที่รกตัดยาก เห็นว่าระหว่างร่องสวนยางปลูกไผ่ได้จึงเลือกปลูกไผ่ผาก ซึ่งไผ่ชนิดนี้นำไปใช้ทำเป็นราวยาง ในโรงรมยาง ซึ่งใช้ไผ่นี้เท่านั้น นอกจากนี้ ใช้ในอุตสาหกรรมทำแมงกะพรุนและทำกระต๊อบ ทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ ทำได้หลากหลาย ความยาวของไม้ไผ่ขนาด 1.85-1.90 อยู่ที่ลำละ 9-12 บาท เวลามาตัดก็ง่าย รวมทั้งสวนยางก็ได้ประโยชน์ น้ำยางได้มากขึ้น ปกติยาง 3 ไร่ จะได้น้ำยาง 30 กก. แต่ของตนได้น้ำยางสดถึง 50 กก. เพราะใบไผ่เป็นปุ๋ยอย่างดี ทำให้ยางไม่เป็นเชื้อรา ไม่ต้องเสียเวลามาตัดหญ้า เพราะใบไผ่ปกคลุมหญ้าไม่ขึ้น และรักษาความชื้นในสวนยางได้ดี เปรียบเทียบระหว่างสวนที่ปลูกไผ่และไม่ปลูกไผ่ น้ำยางต่างกันเยอะ ส่วนไผ่ที่ปลูก 80 กอ มีรายได้เสริมขึ้นมาเดือนละ 19,000 บาท ซึ่งไผ่ขายได้ทุกวันซ้อน. – สำนักข่าวไทย