น่าน 6 พ.ค. – แขวงทางหลวงน่านชี้แจงดราม่าเสาหลักนำทาง หรือเสาหลักลาย สอดไส้ไม้ไผ่ เผยเป็นเสารุ่นใหม่ ช่วยสนับสนุนการใช้น้ำยางพารา ส่วนกรณีสอดไส้เสาหลักเพื่อลดต้นทุนนั้น ยืนยันไม่เป็นความจริง
หลังเกิดกระแสวิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีคนพบเสาข้างทางบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม เป็นโพรงแตก และภายในมีท่อนไม้ไผ่สอดไว้ จนชาวเน็ตต่างพากันสงสัย และพากันแสดงความคิดเห็นต่างๆ อาทิ เป๋าตุงกันเลยทีเดียว, กินแม้กระทั่งเสาหลักลายนะผู้รับเหมา, นี่มันเสาหลักลายของจริงข้างในเป็นเสาของนอกทาสีลายดำขาว, ขอหัวเราะหน่อยเพิ่งเคยเห็น, สอดไส้คาลาเมล, เหล็กเส้นในเสารุ่นใหม่เมื่อก่อนเรียกเหล็กปล้องอ้อย เดี๋ยวนี้เรียกเหล็กปล้องไผ่, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบด้วยครับ หรือบางท่านโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ
ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 10-14 พบเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ในช่วงดังกล่าวมีลักษณะแปลกจากปกติ จากการลงไปตรวจสอบพบว่าเป็นเสาหลักนำทาง (หลักลาย) ชนิดใหม่ที่ผลิตโดยการใช้ยางพารา หลายต้นได้รับความเสียหายปริแตก หักโค่น และถูกไฟเผา ทำให้เห็นสภาพแกนกลางข้างในว่ามีไม่ไผ่อยู่
ทั้งนี้ นายนรินทร์ เอี่ยมครอง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ชี้แจงว่า แขวงทางหลวงน่านที่ 1 ได้รับงบประมาณในการจัดชื้อหลักนำทางยางพาราในปี 2564 โดยเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราของรัฐบาล ให้นำมาติดตั้งแทนเสาคอนกรีตที่มีอยู่และเพิ่มเติมในส่วนที่ติดตั้งไม่ครบ เพื่อช่วยลดการสูญเสียจากการชน และใช้เป็นแนวนำทางในการขับรถ ไม่ได้ป้องกันรถชน เพราะถ้าชนไม่ว่าเป็นเสาคอนกรีตหรือเสายางพาราก็กั้นไม่อยู่ ในส่วนที่มีไม้ไผ่ในเสาเพื่อเป็นการช่วยติดตั้งให้ไวขึ้น เนื่องจากตอนได้เสามาใหม่ๆ เสามีความอ่อน ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้ยาก จึงนำไม้ไผ่สอดไว้ข้างใน เพื่อเป็นหลักยึดในการติดตั้ง ส่วนไม้มีการสูญสลายภายในไม่กี่เดือน และแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ได้ติดตั้งตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวง จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่พบเห็นว่ามีไม้ไผ่สอดด้านในนั้นเหมือนการคอร์รัปชัน สอดไส้เสาหลักเพื่อลดต้นทุนนั้นไม่จริง
สำหรับ จ.น่าน ดำเนินการติดตั้งจำนวน 2,086 ต้น ราคาต้นละ 2,050 บาท โดยถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ติดตั้งจำนวน 260 ต้น ขณะนี้เสียหายไป 5 ต้น มีทั้งหัก ปริแตก และเกิดจากไฟไหม้ ซึ่งจะทำการเปลี่ยนใหม่
จากข้อมูลโครงการดังกล่าว กรมทางหลวงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพารา ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลให้กรมใช้ยางพาราน้ำ จำนวน 9,000 ตันต่อปี .-สำนักข่าวไทย