27 พ.ย. – ควบคุมโรคอีสานใต้ เผยพบผู้ป่วยไข้หูดับใน 4 จังหวัดแล้ว 180 ราย โคราชเเชมป์ ป่วย 108 ราย ตาย 7 ราย เตือนเปิบหมูดิบเสี่ยงตาย อาหารปิ้งย่างควรแยกอุปกรณ์คีบหมู
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ห่วงประชาชนกินหมูดิบ ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับเพิ่มมากขึ้น พร้อมเตือนเมนูอื่นๆ ก็เสี่ยงตายไม่แพ้กัน เช่น ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ แหนมหมูดิบ นอกจากคนกินหมูดิบจะเสี่ยงติดเชื้อแล้ว โรคนี้ยังมีความเสี่ยงไปถึงพ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมู หรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ทำให้ติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ ดังนั้น ขอย้ำเตือนประชาชน อย่ากินหมูดิบ หรือใช้วิธีบีบมะนาวเพื่อให้หมูสุก อาหารปิ้งย่างควรใช้อุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้วอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือที่เรียกว่าหูดับ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และเลือดของหมูที่กำลังป่วย โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 180 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 16 ราย แยกเป็น
- นครราชสีมา มีผู้ป่วย 108 ราย เสียชีวิต 7 ราย
- ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 6 ราย
- สุรินทร์ มีผู้ป่วย 21 ราย เสียชีวิต 2 ราย
- บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 14 ราย เสียชีวิต 1 ราย
กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี .-สำนักข่าวไทย