สตูล 17 ก.พ. – ต่อยอดนวัตกรรมเส้นนาโนยางพารา นิ่ม คงทน ยืดหยุ่น นำมาสานกระเป๋าแฟชั่นเพิ่มมูลค่า สานง่าย พับม้วนเก็บได้ แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ชุมชน จ.สตูล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ) ใช้องค์ความรู้วิจัยและผลิตวัสดุจักสานสำหรับเฟอร์นิเจอร์จากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เป็นนวัตกรรมภายใต้แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะพลาสติกไปผสมกับตัวยางพารา กลายเป็นวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำกลับมาแปรรูปซ้ำได้ ลดขยะ นำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และกระเป๋า เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน
ที่แหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ ม.2 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล อาจารย์จากมหาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจังหวัดสงขลา มาให้ความรู้ต่อยอดการสานกระเป๋าจากเส้นนวัตกรรมยางพารา วัตถุดิบธรรมชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แปรรูป ทดแทนราคายางพาราตกต่ำ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และสมาชิกกลุ่มดาหลาปาเต๊ะ เข้าร่วมอบรม 20 คน

หลังอบรมเสร็จ สมาชิกกลุ่มดาหลาปาเต๊ะได้ต่อยอดงานทันที โดยนำกระเป๋าสานมาบุผ้าด้านในติดซิป เพื่อให้กระเป๋าจากเส้นนวัตกรรมนาโนยางพารา มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมเตรียมพัฒนาโดยนำผ้าปาเต๊ะมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
นางจินดา กั่วพานิช รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดาหลาปาเต๊ะ กล่าวว่า เส้นนวัตกรรมจากยางพารา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เส้นนาโนยางพารา มีหลายสี มีความคงทน ยืดหยุ่น นำมาสานเป็นกระเป๋า สานง่ายกว่าเส้นพลาสติกที่แข็งและเจ็บมือ บางทีอาจบาดมือด้วย ส่วนเส้นนาโนยางพารา จะมีความนิ่ม ดังนั้นเวลาสานต้องใส่บล็อกเพื่อป้องกันการย้วย
เมื่อโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก ดาหลาปาเต๊ะ ก็มียอดสั่งซื้อเข้ามา กระเป๋าจากเส้นนาโนยางพารา ขายใบละ 650-750 บาท หากนำไปพัฒนาต่อยอดผสมผสานกับผ้าปาเต๊ะ หรือผ้าลายต่างๆ ที่กลุ่มมีอยู่ สามารถทำราคาได้ใบละ 1,000 บาท
คุณสมบัติพิเศษของกระเป๋าเส้นนาโนยางพารา สามารถพับหรือม้วนเก็บได้ เมื่อกางออกมากระเป๋าก็ไม่เสียทรง แต่ราคาจะแพงกว่ากระเป๋าจากเส้นพลาสติก เพราะเส้นนาโนยางพาราแพงกว่าเท่าตัว . – สำนักข่าวไทย