กทม. 6 ส.ค.-รองโฆษกรัฐบาล เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาเงินกู้บนโซเชียล พบกรณีใช้โลโก้ธนาคารสร้างความน่าเชื่อถือหลอกโอนเงินค่าดำเนินการ แนะตรวจสอบรอบคอบ ไม่ชัวร์อย่าโอน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรากฏกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาบริการให้สินเชื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ และบางกรณีได้สร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำโลโก้ของธนาคารต่างๆ มาเป็นภาพโปรไฟล์ จึงขอเตือนให้ประชาชนที่พบข้อความโฆษณาสินเชื่อ หรือมีการชักชวนให้กู้ในโซเชียลมีเดีย อย่าหลงเชื่อโดยง่าย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีผู้เสียหายหลงเชื่อและสูญเงินให้มิจฉาชีพมาแล้วหลายราย ซึ่งกลโกงมีลักษณะเหมือนกันคือ การโฆษณาจูงใจด้วยการให้วงเงินกู้สูง ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติง่าย ผ่อนนาน เมื่อเหยื่อให้ความสนใจจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน โดยอ้างว่าเป็นไปตามขึ้นตอนการยื่นขอกู้และทำสัญญากู้ จากนั้นจะหลอกให้โอนเงินค่าดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าเปิดบัญชี, เงินค้ำประกัน ค่าแก้ไขเอกสาร แต่สุดท้ายเหยื่อก็ไม่ได้รับเงินกู้ตามที่ตกลง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อที่หลากหลายที่มิจฉาชีพใช้เข้าถึงตัวเป้าหมายได้ จากก่อนหน้านี้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตอนนี้เริ่มปรากฏการหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งประชาชนต้องรู้เท่าทันกลโกงที่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ซึ่งกรณีการโฆษณาในโซเชียลมีเดียต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากพบการใช้ภาพโลโก้ของธนาคารต่างๆ ขอให้ตรวจสอบกับธนาคารที่ปัจจุบันมีช่องทางให้สอบถามหลากหลายและสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก Line OA หรือสายด่วนของธนาคารว่ามีบริการตามโฆษณาจริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นการแอบอ้างของมิจฉาชีพก็สามารถชี้เบาะแสแก่ธนาคารเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“ธนาคารหลายแห่งได้ออกมาเตือนกรณีที่มีการใช้โลโก้ธนาคารไปเป็นภาพโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกลวงประชาชน เช่น ธ.ก.ส. ออมสิน ซึ่งธนาคารย้ำว่าไม่มีนโยบายการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน หรือไลน์ไปคุยกับลูกค้า หากพบมีการแอบอ้างขอให้เช็กกับธนาคารโดยตรง หรือแจ้งเบาะแสกับธนาคารเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และย้ำเตือนว่าหากมีการพูดคุยให้โอนเงินเพื่อชำระค่าดำเนินการต่างๆ อย่าโอนเด็ดขาด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว