กรุงเทพฯ 1 มิ.ย.-“ทนายเชาว์” ให้ความรู้กฎหมาย PDPA คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เซลฟี-วงจรปิด ติดคนอื่นได้ ไม่ทำเสียหาย แต่ถ้าเจ้าตัวขอให้ลบ ต้องลบ จับตาหลังกฎหมายบังคับใช้ ศาลวางหลักพิจารณาอย่างไร
นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล คุ้มครองคนหรือคุ้มครองใคร มีเนื้อหาระบุว่า วันนี้(1 มิ.ย.) เป็นวันเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบคุคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA หลังจากที่เลื่อนมา 2-3 ปี ทำให้หลายคนวิตกกังวล เพราะมีผู้รู้ออกมาให้ความเห็นกันมาก ไม่รู้จะเชื่อใครดี ตนจะอธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ กฎหมายนี้ต้องการบังคับ “ผู้ควบคุมข้อมูล” ที่เก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผย “ข้อมูลส่วนบุคคล” ให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน การเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย
“คำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่จะไม่นับรวมข้อมูลของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน/เดือน/ปีเกิด และสถานที่เกิด, เชื้อชาติ,สัญชาติ, น้ำหนัก, ส่วนสูง เลขประจำตัวทุกชนิด เช่น บัตรประชาชน, หนังสือเดินทาง, บัตรเครดิต , อีเมล, หมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น รูปภาพใบหน้า, ลายนิ้วมือ, ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน, ทะเบียนรถยนต์” นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ระบุว่า คำว่า “ผู้ควบคุมข้อมูล” หมายถึงบุคคลหรือนิติบุคคลหรือรัฐ ที่มีส่วนเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และคำว่าบุคคลถ้าตีความอย่างละเอียดแล้ว ย่อมหมายถึงบุคคลอย่างเรา ๆ ทั่วไปด้วย ถ้าเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไว้ ถือว่าเราเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ด้วยเช่นกัน ส่วนที่หลายคนวิตกกังวลว่าถ้าถ่ายภาพ ถ่ายคลิป มีบุคคลอื่นติดอยู่ในเฟรมด้วย แล้วนำไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียล หากเจ้าตัวเขาไม่ยินยอมจะผิดหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ผิด เพราะมีข้อยกเว้นถ้าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวเท่านั้น
“แต่ถ้าเจ้าของภาพต้องการให้ลบภาพเขาออกก็ต้องลบ หรือกรณีที่ติดกล้องวงจรปิดไว้ที่บ้าน โดยไม่มีป้ายแจ้งเตือน จะมีความผิดหรือไม่ กล้องวงจรปิดถือเป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าติดประกาศให้คุณโจรทราบก่อนก็ไม่รู้จะป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการติดกล้องวงจรปิดที่บ้าน สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องติดป้ายแจ้งเตือนใด ๆ สรุปพ.ร.บ.ฉบับนี้โดยหลักการแล้วเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชน ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตนจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส และได้รับการดูแลไม่ให้นำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิดหรือถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล” นายเชาว์ ระบุ
นายเชาว์ ระบุว่า หลังจากนี้ก็ต้องดูการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำซึ่งคือศาลยุติธรรมที่จะต้องตีความกฎหมายเพื่อวางหลักให้กับสังคม หลักกฎหมายเขาให้ดูกันที่เจตนา จะละเมิดหรือผิดกฎหมายหรือไม่ให้ดูเจตนาในการนำไปใช้หรือเปิดเผยเป็นหลัก.-สำนักข่าวไทย