ศาลปกครอง 16 มี.ค.-ศาลปกครองกลางยกฟ้องกทม.ละเลยปล่อยสร้างอาคารชินวัตร 4 ทำคอนโดสายลมเสียหาย-ชาวบ้านเดือดร้อน
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 36 ราย ซึ่งเป็นผู้พักอาศัยอยู่ในอาคารชุดสายลมคอนโดมิเนียม ซ.พหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและพวก รวม 4 ราย กรณีละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 4 จนทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษทางเสียง ฝุ่นละอองและทำให้ระบบโครงสร้างของอาคารชุดสายลมคอนโดเสียหาย โดยศาลให้เหตุผลว่า การก่อสร้างงานฐานรากของอาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 4 ที่บริษัทเอสซีแอสเสทคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน ) ดำเนินการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือวิธีการที่กำหนดไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ส่วนการขุดดินเพื่อทำเข็มเจาะวางฐานรากเพื่อทำตอม่อเสาอาคารเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 15 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) ที่ออกตามความใน พ.ร.บควบคุมอาคาร 2522
ส่วนที่ผู้พักอาศัยในอาคารชุดสายลมคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีอ้างว่าระหว่างการก่อสร้างมีฝุ่นละอองจำนวนมากเข้ามาภายในอาคารชุด ทำให้เกิดมลพิษและอาการเจ็บป่วย ศาลเห็นว่าบริษัท เอสซีแอสเสทคอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน )เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องคุณภาพอากาศตามที่อีไอเอกำหนดไว้ โดยหลังจากงานก่อสร้างฐานรากเสร็จสิ้นพบว่า ค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป ส่วนกรณีที่ผลตรวจวัดฝุ่นละอองบริเวณอาคารชุดสายลมคอนโดมิเนียมที่มีค่าเกินมาตรฐานช่วงเดือนธันวาคม 2557 จำนวน 5 วัน หากเป็นเหตุให้ผู้พักอาศัยเกิดอาการเจ็บป่วยย่อมต้องอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าช่วงเวลาดังกล่าวผู้พักอาศัยที่เป็นผู้ฟ้องคดีมีอาการเจ็บป่วยจากฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน ซึ่งจากหลักฐานเกี่ยวกับการขอรับการรักษาพยาบาลของผู้พักอาศัย ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดียังไม่อาจฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยดังกล่าวเกิดจากการก่อสร้างอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 4
ทั้งนี้ หลังจากผู้อำนวยการเขตพญาไทได้รับหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของผู้พักอาศัยจากนิติบุคคลอาคารชุดสายลมคอนโดมิเนียม ได้มอบหมายให้ฝ่ายโยธารตรวจสอบและแก้ไข และเมื่อบริษัทเอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน )ได้รับแจ้ง ได้หามาตรการป้องกันและเยียวยาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ จนบรรเทาลง จึงเห็นได้ว่าผู้อำนวยการเขตพญาไทซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงไม่ได้ละเมิดและไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ก่อสร้างอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 4 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับรองการก่อสร้างอาคารลงวันที่ 7 มกราคม 2560 ให้บริษัทฯแล้ว ศาลจึงให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาสิ้นผลไปนับแต่วันศาลมีคำพิพากษา.-สำนักข่าวไทย