ทำเนียบรัฐบาล 19 ม.ค.-ศบค.เผยไทยติดโควิดเพิ่ม 7,122 ราย ตาย 12 ราย ชี้ โอไมครอนทั่วโลกยังน่าห่วง ระบาดหนักแทนเดลตา โควิดระบาดจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับมือไหว
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า ผู้ป่วยรายใหม่ 7,122 ราย แบ่งเป็น โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศ 6,935 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 6,846 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 89 ราย จากเรือนจำ 15 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 172 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,344,933 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 7,460 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 2,241,363 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 81,602 ราย พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 511 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 21,968 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลก 335,286,854 ราย เสียชีวิต 5,573,381ราย ขณะที่ตัวเลขการฉีดวัคซีนสะสมระหว่างวันที่ 28 ก.พ.2564 -18 ม.ค.2565 มีผู้รับวัคซีนเข็ม 1 วันนี้ 4,5031 ราย ฉีดสะสม 51,879,455 รายและเข็ม 2 วันนี้ 96,086 รายฉีดสะสม 47,733,153ราย เข็ม 3 วันนี้ 340,711 ราย ฉีดสะสม 10,697,873ราย ทั้งหมด 110,310,481 โดส
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกยังพุ่งสูงขึ้นและองค์การอนามัยโลกยังน่าเป็นห่วง ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2564 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนยังมีทิศทางที่สูงขึ้น ทั้งในโซนของยุโรปและสหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงว่าอัตราการแพร่ระบาด สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศทดแทนสายพันธุ์เดลต้า ภายในเวลาต่ำกว่าหนึ่งเดือน ถือว่าการแพร่ระบาดรวดเร็ว
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ถ้าดูทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ พบว่าตัวเลขที่รายงานผู้ติดเชื้อสูงจะอยู่ในกลุ่มจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ซึ่งหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวขยับขึ้น แต่ถ้าจะพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายมาตรการกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.ชุดใหญ่ และศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) คงไม่ได้ดูเฉพาะตัวเลขรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ
“สิ่งสำคัญจะต้องดูเรื่องระบบสาธารณสุขในพื้นที่ สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึงจะต้องมีการลงพื้นที่ไปดูปัจจัยเสี่ยง และแก้ให้ตรงจุดฉะนั้นตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่ปัจจัยที่จะพิจารณาว่าจะผ่อนคลายหรือไม่ผ่อนคลายคงต้องดูทิศทาง และดูหลายองค์ประกอบทุกมิติรวมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามทิศทาง ซึ่งในขณะนี้ทิศทางยังทรงตัวไม่ได้สูงขึ้น ถึงขั้นที่จะรับมือไม่ไหว” พญ.อภิสมัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย