รัฐสภา 11 ม.ค. – “ราเมศ” ป้อง “ชวน” ยื่นสอย “สิระ”ตาม รธน. แฉ 2 ส.ส.เพื่อไทย ยึกยัก ถอนชื่อกลับ พร้อมโต้ ส.ส.ก้าวไกลควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกมาวิจารณ์
นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้พิจารณาสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลงหรือไม่ และมี ส.ส.หลายคน ออกมากล่าวหาว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้ทนราษฎร ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ว่า ต้องเคารพในดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการวิธีพิจารณาคดี ซึ่งเหตุผลของคำวินิจฉัยคือส.ส.เข้าชื่อน้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนส.ส.เท่าที่มีอยู่เนื่องจากมี ส.ส.2 คนขอถอนชื่อจึงทำให้เหลือ ส.ส.ที่เขาชื่อ 48 คน ถือว่าไม่ครบ 1 ใน 10 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82
นายราเมศ กล่าวต่อว่า การยื่นคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายสิระ สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 63 มี ส.ส.ร่วมกันลงชื่อ 62 คนปรากฏว่ามี ส.ส.ถอนชื่อจากคำร้อง 10 คน และมีการตรวจลายมือชื่อโดยฝ่ายสำนักงานเลขาธิการสภาฯไม่ตรงตามลายมือชื่อที่ได้ให้ไว้อีก 2 คน และวันที่ 28 ธ.ค.63 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ากระบวนการทั้งหมดของประธานสภาฯ มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คำร้องที่ยื่นไปมีความสมบูรณ์ไม่มีขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด และมีการแจ้งให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ทราบว่าได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า วันที่ 28 ธ.ค.63 เวลา 14.45 และเวลา 14.50 น. มี ส.ส.2 คนได้ยื่นหนังสือขอถอนรายชื่อออกจากคำร้อง ซึ่งเลยเวลาที่เจ้าหน้าที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว และเมื่อเจ้าหน้าที่สภาฯรับหนังสือดังกล่าวก็ได้มีการส่งตรวจสอบลายมือชื่อตามกระบวนการ และได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอนระบบราชการก็ได้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 ธ.ค. 63 เวลา 16.20 น. เพราะถือว่าเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้วการถอนชื่อต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยจะไปก้าวล่วงมิได้ แต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.64 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ได้ยื่นเอกสารขอเพิ่มชื่ออีก 5 คน โดยหนังสือถึงสำนักงานประธาน เวลา 10.40 น. เจ้าหน้าที่ได้มีการส่งตรวจลายมือชื่อเวลา 13.00 น. ผลการตรวจสอบกลับมายังเจ้าหน้าที่วันที่ 7 ม.ค. 64 และมีการเสนอตามขั้นตอนราชการเสร็จเวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่สภาฯ ได้เดินทางไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเวลา 15.50 น. แต่ปรากฏว่ามีข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 7 ม.ค.64 ระบุว่าได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคดีไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค.64 ดังนั้นกรณีขอเพิ่มชื่อ ส.ส.อีก 5 คน ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถรับเข้าสู่สำนวนได้เพราะได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีกรณี 2 ส.ส.ที่ขอถอนชื่อไปแล้วนั้น ได้ทำหนังสือขอยกเลิกการถอนชื่อ ได้ยื่นถึงเจ้าหน้าที่สภาฯเมื่อวันที่ 7 ม.ค.64 ซึ่งเป็นกรยื่นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องแล้ว ดังนั้นข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเห็นได้ว่า นายชวน ได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่ตรงไปตรงมา ถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ทุกประการ ดังนั้นกรณีที่ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวหา ว่าวางตัวไม่เป็นกลางและ ต้องทบทวนตนเองนั้น อยากให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนออกมาพูด
“คุณแน่ขนาดไหน ถึงมาพูดแบบนี้ ควรกลับไปดูตัวเองว่าทำหน้าที่ได้สมศักดิ์ศรี ความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยหรือไม่ ควรจะตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนมีการกล่าวหา ไม่ใช่พออะไรไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาโวยวาย ออมาโจมตี อย่าทำตัวเป็นเด็กอมมือ ให้ร้ายประธานสภาฯ อยู่เป็นประจำ หนึ่งนิ้วที่ชี้หานายชวน แต่อีก 4 นิ้วกลับชี้เข้าสู่ตัวเองทั้งหมด ดังนั้นขอให้ทำตัวเองให้สมศักดิ์ศรีกับการเป็น ส.ส. จะดีกว่า ทำตัวเสมือนเป็นเด็กน้อยที่ไม่มีวุฒิภาวะ”นายราเมศ กล่าว เมื่อถามว่า ก่อนที่จะมีการตัด 2 ชื่อที่ลายเซนต์ไม่เหมือนกับที่ให้ไว้ต่อสำนักงานฯได้แจ้งให้ ส.ส.ดังกล่าวทราบหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า เมื่อเจ้าหน้าที่สภาฯได้ตรวจสอบเห็นว่ารายชื่อครบตามจำนวนแล้วส่งไปตามขั้นตอน และตามปกติไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ส.ส.ที่ถูกตัดชื่อทราบ เพราะไม่มีผลอะไรเนื่องจากจำนวนครบแล้ว. สำนักข่าวไทย