รัฐสภา 28 พ.ค.-นายกฯ นำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ 69 ต่อสภาฯ วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ตั้งเป้า GDP โต 2.3-3.3% ห่วงภาษีสหรัฐฉุดเศรษฐกิจไทย แจงรายจ่าย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ยันใช้งบฯ อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจง ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า การจัดทำงบประมาณอยู่บนพื้นฐานที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 69 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ในการประชุมเดือนเมษายน 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป


สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลที่ 2.3% ของ GDP โครงสร้างงบประมาณปี 69 ประกอบด้วย
- งบประมาณรายจ่าย 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 27,900 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 68 หรือเพิ่มขึ้น 0.7% โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 18.9% ของ GDP
- รายจ่ายประจำ 2.65 ล้านล้านบาท ลดลง 28,135 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 68 หรือลดลง 1% คิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 68 ที่ไม่ได้มีการเสนอตั้งงบประมาณ โดยคิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุน 864,077 ล้านบาท ลดลง 68,284 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 68 หรือลดลง 7.3% คิดเป็นสัดส่วน 22.9% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จัดสรรไว้ 151,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,100 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 68 หรือเพิ่มขึ้น 0.7% คิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,519 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ รวม 65 แผนงาน ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรงบประมาณ 415,327 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งการดูแลความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ขยายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ภาษาที่หลากหลาย ระงับยับยั้งการบ่มเพาะทางความคิดที่อาจบิดเบือนจากหลักศาสนา
อีกทั้งนำงบประมาณไปดำเนินการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น ป้องกันภัยคุกคาม ภัยอาชญากรรมชาติและความมั่นคงทางชายแดนชายฝั่งทะเล และนำไปพัฒนาระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ - ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จัดสรรงบประมาณ 394,611 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน เน้นการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยขยายการค้าการลงทุนชายแดนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด่านศุลกากรในเชตเศรษฐกิจพิเศษ
อีกทั้งนำงบประมาณไปใช้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยตั้งเป้าให้เกิดการลงทุนจริงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนนส่ง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น ยกระดับและพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจรผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 6,000 คน
นอกจากนี้ นำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยส่งเสริมการลงทุน และใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานดิจิทััลร่วมกัน อาทิ การบริการคลาวด์ภาครัฐพร้อมมาตรการเฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์และตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ เป็นต้น
รวมถึง นำไปใช้ในการพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการจัดหาพลังงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคง โดยรักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไม่น้อยกว่า 140,000 บาร์เรลต่อวัน สนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานทดแทนพลังงานทางเลือก ส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
อีกทั้งนำไปขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ หวังผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นกไลในการสร้่างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และนำไปใช้ในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน - ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรงบประมาณ 605,927 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้คู่คุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมการผลิตแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 42,400 คนและกระจายแพทย์ไปสู่ชนบท ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อปี ยกระดับระบบสาธารณสุขและระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัย
รวมถึงพัฒนาคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนการสอน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา - ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดสรรงบประมาณ 942,709 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ด้วยการบริหารจัดการที่ดิน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก กระจายการถือครองที่ดินให้กับเกษตรกรและประชาชนเข้าถึงได้และเป็นธรรม การรองรับสังคมสูงวัย การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ผ่านการสนับสนุนการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเบี้ยยังชีพคนพิการ
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบประมาณ 147,216 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
- ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ 605,441 ล้านบาท เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐให้มีสมรรถนะสูง เปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล อาทิ การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ประเทศไทยปลอดทุจริต โดยปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้มีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต มีเป้าหมายค่าดัชนีรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับ 1 ใน 45 หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 56คะแนน รวมถึงการมีรัฐบาลดิจิทัล หน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการประชาชนได้เต็มศักยภาพ การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของกฎหมายที่มีอยู่ ลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ 669,365 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง โดยเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน123,960.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลังการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 421,864.4 ล้านบาทเพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท พื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐบาลเสนอในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ภายใต้ข้อจำกัดด้านรายได้และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รัฐบาล จึงดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยกำหนดวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งในด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างแท้จริง และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.-315 -สำนักข่าวไทย