รัฐสภา 31มี.ค.- “วุฒิสภา” รับหลักการร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นด้วยปลดล็อกโฆษณา “เทวฤทธิ์” ชี้ต้องทำให้รายย่อยมีโอกาสแข่งกับรายใหญ่ ขณะที่ “สว.พรชัย” ให้ยกเลิก ม.32 ส่งเสริมสุราชุมชนให้เป็นที่รู้จัก สามารถประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ด้าน “นันทนา” เแนะนำ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” ทำสาเกแข่งญี่ปุ่น ทำแชมเปญแข่งฝรั่งเศส
ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่.. พ.ศ….ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2568 ที่สามารถโฆษกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า-เบียร์ได้ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.)จำนวน 3 คณะเป็นผู้พิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของสมาชิก คือ1. กมธ.การท่องเที่ยวและการกีฬา 2. กมธ.การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลาย ทางสังคม และ 3.กมธ.การสาธารณสุข
โดยเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.อภิปรายว่า ในส่วนของการโฆษณา บางเรื่องเราอาจจะเห็นว่าการโฆษณาแนบเนียน ซึ่งคนที่สามารถทำได้ก็คือผู้ค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาแฝง หรือเอาสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมาแต่รายย่อยทำไม่ได้ ดังนั้นการจำกัดกำแพงที่สูงขึ้นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือขาที่จะก้าวข้ามกำแพงไปสู่ผู้บริโภคไม่เท่ากันแน่นอน และต้องเท่าทันสื่อซึ่งทำได้โดยไม่อาจเซ็นเซอร์หรือปิดหูปิดตาด้วยการควบคุมกำกับแต่การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเปิดเผยโปร่งใสจะสร้างความตระหนักรู้ให้เท่าทันโฆษณาหรือการรณรงค์ต่างๆ การปล่อยให้เสรีและเป็นธรรมจะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ การที่ตั้งกำแพงสูงเกินไปนอกจากจะทำให้ประชาชนไม่รู้ข้อมูลแล้ว อาจจะเป็นการทำลายเป้าหมายของตัวเองด้วยการเซ็นเซอร์ ดังนั้นต้องทำอย่างเสมอภาคทั้งฝ่ายทุนใหญ่และทุนเล็ก ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนใหญ่สามารถทุ่มการรณรงค์โฆษณาได้อย่างเต็มที่ โดยที่ฝ่ายทุนเล็กไม่สามารถแข่งได้
ด้านนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว.อภิปรายว่า ตนยังไม่เห็นภาพการบังคับใช้กฎหมายจะมีกลไกการตรวจสอบอย่างไร จะให้ตำรวจสุ่มตรวจผู้ที่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือจะให้เกิดเหตุก่อน เช่นเมาแล้วขับ เมาแล้วอาวะวาดก่อน หรือเจอผู้เยาเมาก่อน ถึงจะไปเอาผิดกับผู้จำหน่ายหรือ นั้นจำเป็นจะต้องกำหนดกลไกการบังคับใช้กฎหมายก่อนหรือไม่ ทุกที่ที่จำหน่ายเหล้าควรมีการติดตั้งวงจรปิดไว้หรือไม่เพราะถ้าไม่ชัดเจนอาจมีเอื้อให้เกิดการเรียกสินบนจากร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ ต่างๆ โดยผู้บังคับใช้กฎหมายมากขึ้นหรือไม่ เรารู้กันอยู่แล้วว่าธุรกิจกลางคืนการส่งสวยให้ตำรวจเป็นเรื่องธรรมดาอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานจึงกลัวว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดปัญหาส่วยตำรวจนี้รุนแรงยิ่งขึ้น
นายพรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกำหนดการโฆษณาใหม่จะยุติธรรมสำหรับกลุ่มสุราชุมชนหรือไม่ เพราะไม่มีมาตรการใดที่จะช่วยสนับสนุนให้สุราชุมชนสามารถโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เป็นที่รู้จักของประชาชนและลืมตาอ้าปากได้เลยจึงอยากถามว่าแล้วผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนจะประชาสัมพันธ์ตนเองจนเป็นที่รู้จักได้อย่างไร ดังนั้นตนขอเสนอว่า ให้ยกเลิกมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมเฉพาะสำหรับสุราชุมชน เพื่อเป็นการปลดล็อคและสามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ให้ผู้ผลิตสุราชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าและพูดถึงผลิตภัณฑ์ของตัวเอง สัญลักษณ์ ส่วนประกอบวิธีการจัดการการผลิต แหล่งที่มาหรือลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมสุราชุมชนของไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ของประเทศไทยได้ด้วย
ขณะที่น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.อภิปรายว่า คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะวิธีคิดของคนไทยเกี่ยวกับความสมดุลทางสังคม ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยแทบจะเป็นการผูกขาดของผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่ราย เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่ยากมากด้วยการห้ามโฆษณาอย่างเข้มงวด แบรนด์ที่คนรู้จักอยู่แล้วหากินได้สบาย ตลาดขยายตัว แต่รายใหม่แจ้งเกิดไม่ได้ ถึงจะคุณภาพดีอย่างไรแต่โฆษณาไม่ได้ก็ไม่ได้เกิด รวมทั้งข้อกำหนดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศซาอุดิอาระเบีย ระบบภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยทำให้ชาวตะวันตกตกใจกันมากไม่ว่าจะเป็นไวน์ วิสกี้ หรือเบียร์ยี่ห้อที่ขายอยู่ในประเทศไทยราคาสูงกว่าที่ขายอยู่ในยุโรป 2-3 เท่า ทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลดีในแง่ดีสาธารณสุขหรือปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน แต่มีผลลบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
“อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมูลค่ารวม 3 แสนล้านบาท ประมาณ 1.6% ของจีดีพีในประเทศไทย แล้ววันนี้ประเทศไทยมีผู้ผลิตกี่ราย ถ้าที่ร้อยเอ็ด ภูเก็ต เชียงราย มีคนอยากจะทำบ้างจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เราเป็นประเทศที่เคร่งศีลธรรมกัน แต่ของแบรนด์รวยกันสุดๆ อย่างนี้เรากำลังปกป้องผลประโยชน์ใครอยู่ คงไม่ต้องพูดถึงโอกาสการส่งออกของประเทศแต่โอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ภูมิปัญญาหรือนวัตกรรมไปหารายได้จากต่างประเทศ โอกาสที่จะเอาวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาสร้างอุตสาหกรรมแล้วนำรายได้เข้าประเทศ ลองคิดดูเราเป็นประเทศที่มีผลผลิตข้าวมากมายล้นตลาด จนกระทรวงพาณิชย์ปวดหัวอย่างมากในการหาตลาดระบายข้าว ทำไมเราไม่เอาข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้มาทำเอาสาเกแข่งกับญี่ปุ่นดูบ้าง ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะผ่อนปรนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความหมายเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากในเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้ ถ้าสาเกหรือสาโทของไทยโด่งดังไประดับโลกแบบญี่ปุ่น หรือแชมเปญของฝรั่งเศส ชื่อเสียงเศรษฐกิจของประเทศไทยจะรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลขนาดไหน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้คนไทยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าไปเปิดตลาดกับชาวโลกบ้าง”น.ส.นันทนา กล่าว
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสังเกตต่อร่างกฏหมายฉบับนี้ 3 ประการคือ 1. ให้น้ำหนักมิติด้านสาธารณสุขมากเกินไปหรือไม่ มาตรา 10 คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติก็ให้รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน รองประธานก็เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เรื่องนี้มีมิติที่หลากหลายทั้งเศรษฐกิจและสังค การหารายได้เข้าประเทศ หรือแม้แต่ที่รัฐบาลเรียกว่าซอฟพาวเวอร์ 2.บทลงโทษ สำหรับความผิดภายใต้กฎหมายฉบับนี้มาตรา 37 ที่มีการปรับหลักแสนบาทและอาจสูงถึง 5 แสนบาท รวมทั้งมีโทษจำคุก ถือว่าหนักมากทำอย่างกับว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มร้ายแรงเหมือน ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ซึ่งเทียบกันไม่ได้ และ 3. มาตรา 31 มีอำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่กว้างขวางมาก สามารถเข้าไปในพื้นที่ในเวลาใดก็ได้ เรียกขอดูเอกสาร ตรวจสอบพยานหลักฐานที่จะใช้ในการดำเนินคดี ยึดอายัดเครื่องดื่มใดๆ แม้กระทั่งปิดร้านได้เลย เขียนแบบนี้ทำราวกับว่าไวน์ เบียร์ รุนแรงเท่ากับยาเสพติด ที่สำคัญกำลังตีเช็คเปล่าให้กับเจ้าหน้าที่ ในที่สุดก็จะกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของคนมีสี หากมีความไม่ถูกต้องก็ควรดำเนินการตามกฎหมายปกติ ประเด็นเหล่านี้ตนไม่เห็นด้วยจึงขอไปแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการต่อไป
หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมทลงมติรับหลัการวาระที่ 1 เห็นด้วย 139 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน .312.- สำนักข่าวไทย