กทม. 28 มี.ค.-“อนุทิน” ยืนยันค้นหา-ช่วยเหลือผู้ติดค้างซากตึกถล่มทั้งคืน สั่งไฟฟ้า-น้ำ-เครื่องเติมอากาศ เข้าพื้นที่อำนวยความสะดวกช่วยเหลือผู้ติดค้างในซากตึก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังลงพื้นที่เกิดเหตุอาคารถล่ม ระบุ อุปสรรคของการค้นหาและช่วยเหลือผู้ติดค้างในซากตึกถล่ม เป็นเรื่องของกองเศษซากอาคารที่ทับถมเป็นภูเขา หากมีการขุดเจาะก็อาจจะเกิดการถล่มซ้ำ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญคือการช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในอาคารให้สามารถออกมาได้อย่างปลอดภัย
ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือจะดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ไม่มีหยุดพัก ขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย และมีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อม แต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะต้องรักษาชีวิตคนไว้ก่อน
โดยตอนนี้ตัวเลขผู้สูญหาย ที่ได้รับแจ้งคือกว่า 110 คน รอดออกมาแล้วประมาณ 12-13 คน และผู้เสียชีวิตที่นำร่างออกมาได้แล้วจำนวน 8 ราย ที่พิสูจน์อัตลักษณ์แล้ว และคาดว่าน่าจะมีอีก ซึ่งเรายังเห็นจุดผู้เสียชีวิตได้อีกหลายรายอยู่ โดยบางร่างถูกโครงสร้างกดทับร่างไว้อยู่ ก็ยังต้องใช้เทคนิคในการนำร่างออกมา เพราะหากเราเร่งทำเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดการสไลด์ของซาก และถล่มซ้ำได้ ก็ต้องใช้เวลาซักระยะหนึ่ง
โดนตนเองได้สั่งการให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำไฟสปอร์ตไลท์ เข้ามาส่องสว่างให้กับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติการในพื้นที่ สั่งการให้การประปานครหลวงนำน้ำเข้ามา พร้อมทั้งสั่งการให้นำเครื่องเติมอากาศเข้ามาในพื้นที่เพื่อใช้เคิมอากาศให้กับผู้ที่ติดค้างใต้ซาก
ส่วนสาเหตุการถล่มของตึก จากการดูคลิปภาพขณะเกิดเหตุ พบว่าเป็นการฉีกของเสาที่รับน้ำหนักด้านล่างอาคาร เมื่อไม่มีเสาค้ำยันจึงเกิดการพังถล่มลงมา ไม่ใช่การเกิดจากด้านบนพังถล่มลงมาทับ ซึ่งอันดับแรกจะต้องไปตรวจสอบที่การออกแบบอาคาร ว่าออกแบบให้สามารถรับน้ำหนักตัวอาคารได้มากขนาดไหน มีออกแบบเผื่อไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามบริษัทผู้รับเหมาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เชื่อว่ามีการออกแบบเผื่อไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอข้อสรุปสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการสอบสวนหาสาเหตุอาคารถล่ม เนื่องจากอาจต้องใช้เวลานาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายอนุทิน ระบุว่า ไม่ต้องสั่งการอะไร เนื่องจากเราใช้มาตรการสูงสุดในการให้ความช่วยเหลือ ค้นหาผู้ประสบภัย และร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งเราทำอย่างเต็มที่ มีเครื่องมือที่เราระดมมาได้ทั้งหมด ส่วนสถานที่อื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบ แต่ยังไม่พบว่ามีจุดไหนที่เข้าข่ายความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ตนเองเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง จะเร่งประสานกับสภาวิศวกร เพื่อจัดทีมวิศวกร เข้าตรวจสอบอาคารสาธารณะที่มี ประชาชนเข้าใช้ เช่น สถานที่ราชการ หรือ อาคารขนส่งมวลชนต่างๆ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างว่ามีรอยร้าวหรือจุดที่อันตรายหรือไม่
ขณะที่อาคารเอกชน คอนโดมิเนียม หรือ อาคารสำนักงานต่างๆ เราก็จะขอความร่วมมือให้เจ้าของอาคารไปดำเนินการสำรวจว่ามีความเสียหายของโครงสร้างหรือไม่ ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยขณะนี้ไม่พบ โครงสร้างที่ได้รับความเสียหายถึงขั้นอันตราย และอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจังหวัดที่พบปัญหามาก คือจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดก็ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจ และงบประมาณเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทีมข่าวสำนักข่าวไทยได้สอบถาม นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทราบว่า สตง.เรียกบริษัทผู้รับเหมาประชุมเพื่อหาสาเหตุของการถล่มในวันพรุ่งนี้ พร้อมเผยอาคารแห่งนี้มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ เดือนสิงหาคม 2568 แต่การก่อสร้างคืบหน้าเพียง 30% ซึ่งยอมรับว่าล่าช้า โดยบริษัทผู้รับเหมาอ้างว่า ติดปัญหาจากสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งเมื่อประเมินแล้วการก่อสร้างไม่น่าจะแล้วเสร็จตามกำหนด จึงเตรียมยกเลิกสัญญา แต่ก็มาเกิดเหตุถล่มซะก่อน
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ สตง.ก็ได้มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างมาแล้วในปี 2567.-517.-สำนักข่าวไทย