รัฐสภา 19 มี.ค.-“สว.เสรี” ดักคอ “เศรษฐา” อย่าหนีซักฟอกม.153 เผยคนในรัฐบาลปูดเองว่าจะไม่มาฟังอภิปราย ชี้รธน.กำหนดต้องมาฟังทั้งครม. ไม่ใช่มาคน สองคนแบบขอไปที
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาช กวุฒิสภา(สว.) และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปของสว.เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ในวันที่ 25 มี.ค.ว่า ทางสว.พร้อมอภิปราย โดยจะนำเสนอปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้รัฐบาลได้เข้าใจปัญหาและนำไปแก้ไข มีสว.แสดงความจำนงร่วมอภิปรายจากเดิม 30 กว่าคนและได้จัดคนตามเวลาที่มีอยู่ในหนึ่งวันได้ 27 คน อภิปรายใน 7 ประเด็นใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เห็นว่ารัฐบาลจะต้องรีบเร่งนำปัญหาเหล่านี้ไปแก้ไขในการบริหารราชการแผ่นดินที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
นายเสรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามดึงเวลามาถึง 2 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจ โดยบอกว่ามีภารกิจมาก แต่ก็เห็นว่ารัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเอาแต่ไปต่างประเทศ กลับประเทศมาแล้วก็ยังมีเวลาไปเชียงใหม่ ซึ่งเห็นว่ายังมีเวลาเยอะแยะ แต่เวลาจะประชุมร่วมกันในเรื่องของประเทศกลับบอกว่าไม่มีเวลา เราจึงต้องท้วงติงเอาไว้ เพราะได้ข่าวจากฝ่ายรัฐบาลมาบอกว่าวันที่ 25 มี.ค.นายกฯ จะไม่มาฟังการอภิปราย ก็หวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องนำปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินมาพูดคุยกับวุฒิสภา ถ้านายกรัฐมนตรีไม่มาก็อาจจะทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สำเร็จผล และการมาของรัฐบาลนั้น ในรัฐธรรมนูญบอกว่าให้มาเป็นคณะ ไม่ใช่มาเพียง 1-2 คน แบบขอไปที เพื่อให้ผ่านไปเท่านั้น เรื่องนี้ต้องขอเรียนไว้เบื้องต้นจะได้ไม่เกิดการต่อว่ากันในที่ประชุม
“ในการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้วย ได้ยินมากับหูว่านายตวง อันทไชย สว.ในประธานกมธ.พูดในที่ประชุมว่าได้รับแจ้งจากคนในรัฐบาลว่านายกฯ จะไม่มาฟังการอภิปราย ซึ่งอาจจะทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย เพราะเรื่องสำคัญนายกฯ ควรมาร่วมฟัง เพราะนายกฯ ไปได้หลายที่หลายทาง แต่พองานสภาฯ บอกว่าจะไม่มา เราก็หวังว่านายกฯ จะมา ผมไม่ได้บอกว่านายกฯ พูดว่าจะไม่มา แต่มีคนฝั่งรัฐบาลเองแจ้งมา ดังนั้น การที่นายกฯ ไม่มาร่วมประชุมผมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง และต้องแก้ปัญหาให้กับประชาชน” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่มาฟังการอภิปรายของสว.จริง ๆ ก็จะต้องมีการทักท้วงกันในที่ประชุม แต่เราก็ไม่ได้ผิดหวังอะไร ถือว่าเป็นภารกิจที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว และถ้านายกรัฐมนตรีไม่มาจริง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องประหลาด เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการอภิปรายของสว.นายกฯ จะมาร่วมประชุมด้วย ก็มองได้หลายอย่างแต่จะด้วยเหตุใดก็ตามก็ต้องชัดเจนว่าไม่มาด้วยเหตุใด มิฉะนั้นคนเขาจะมองว่านายกรัฐมนตรีหลบ จะทำให้เสีย ไม่ควรทำ
ส่วนใน 7 ประเด็นที่กำหนดไว้ มีประเด็นไหนที่มีสว.อภิปรายมากที่สุด นายเสรี กล่าวว่า ประเด็นเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม พลังงาน การศึกษา แก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศ แต่ส่วนใหญ่ผู้อภิปรายจะเฉลี่ยกัน
“ส่วนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะอยู่ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมืองและของประเทศ ฝ่ายรัฐบาลพยายามพูดตลอดว่าทำตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทำตามกฎหมายหรือไม่ แต่ปัญหาที่เกิดคือกฎหมายที่เอามาใช้ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ควรจะเอากฎหมายเหล่านี้มาใช้หรือไม่ เพราะฉะนั้นหากยังเห็นแก่คนบางคน เห็นแก่พวกพ้องไม่ยึดหลักตามกระบวนการยุติธรรมที่ต้องใช้กับคนทั่วไปจะทำให้ต้องแก้ไข ดังนั้น รัฐบาลก็ควรที่จะต้องรับฟังเรื่องเหล่านี้และนำไปแก้ไข อย่าทำอะไรที่มันผิด ๆ” นายเสรี กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย