รัฐสภา 5 ม.ค. – “ชยพล-เอกราช” 2 สส.ก้าวไกลโต้ “สุทิน” งบเรือดำน้ำดาวน์น้อย เหตุ กห.ตั้งงบฯ เยอะ เลยถูกสำนักงบฯ ตัด จี้ถามหาความรับผิดชอบ แนะรมต.ควรใส่ใจ อย่าฟังทหารเยอะ ยกโครงการสร้างสนามบินให้ทร.ดูแล หวั่นแบงก์ต่างชาติไม่อนุมัติ ตกเป็นภาระงบฯ ในปีถัดไป
นายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวชี้แจงเพิ่มเติม ภายหลังรับฟังนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงงบประมานของกระทรวงฯ ในสภาฯ เมื่อวานนี้(4 ม.ค.) ว่า การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงในสภาฯ ว่าไทยเคยผิดสัญญาซื้อเรือดำน้ำในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นการตั้งธงความคิด เพราะประเทศไทยอยู่ในจุดเสียเปรียบเป็นอย่างมาก และจะทำให้ไทยมีปัญหาในการเจรจาต่อไปในอนาคต จึงอยากชี้แจงว่าในสัญญาซื้อขายได้เขียนสัญญาระบุไว้แล้ว โดยทางประเทศจีนก็ไม่ได้ทำตามสัญญาตั้งแต่แรก แต่ก็เคลียร์เป็นที่เรียบร้อย
“ส่วนประเด็นที่นายสุทิน ชี้แจงว่า เป็นงบดาวน์น้อย ที่เขียนงบประมาณไว้แล้ว แต่ถูกสำนักงบประมาณตัด เพราะเหลือเวลาใช้จ่ายแค่ 4 เดือน แสดงว่านายสุทิน มีความตั้งใจที่จะส่งงบประมาณไปเยอะ แต่ถูกสำนักงบประมานตัด จึงเป็นงบที่ “ดาวน์น้อย” ในปีนี้ เลยสะท้อนกลับไปที่ งบกระทรวงกลาโหม ปีนี้ดูน้อย ที่นายสุทินมาพูดตอนหลังว่า ความจริงส่งไปเยอะแต่โดนตัด แสดงให้เห็นว่านายสุทิน ไม่มีความตั้งใจที่จะลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม” นายชยพล กล่าว
ขณะที่นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล แถลงว่า ยืนยันว่าไม่ใช่การโต้ในประเด็นปิงปอง แต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ที่นายสุทินบอกว่า มีความตั้งใจดี เมื่อฟังดูแล้ว อาจจะเชื่อและคล้อยตาม แต่ในเชิงการตรวจสอบ ประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอกสาร ซึ่งจะเห็นรายการคาดการณ์รายจ่าย หากจะมาอ้างว่า 3 เดือนนี้ ไม่สามารถจัดการงบประมาณ ปี 67 ได้ ไม่ได้หมายความว่า คาดการณ์ตัวเลขในปี 68 เป็นต้นไป จะจัดการไม่ได้ แต่กลับเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้จึงฟ้องด้วยตัวเองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เคยใส่ใจดูแลในรายละเอียดงบประมาณเลย หากจะลดงบประมาณก็ควรจะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม
“ส่วนการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ที่จังหวัดระยอง นายสุทิน น่าจะฟังข้าราชการทหารมากจนเกินไป จึงอยากให้ไปลองสืบค้นเอกสารก่อนว่า ครั้งหนึ่งมติคณะรัฐมนตรีเคยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ.เป็นผู้ดูแล โครงการก่อสร้างดังกล่าว แล้วไปกู้เงินกับ Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB แต่ต่อมาพอ AIIB อนุมัติวงเงิน แต่ยังไม่ได้อนุมัติเงิน ก็มีมติตีกลับมาให้กองทัพเรือ เป็นผู้รับผิดชอบเพียงผู้เดียว และสุดท้ายโครงการก่อสร้างนี้ต้องโอนความรับผิดชอบ และภารกิจทั้งหมดให้ไปอยู่ความรับผิดชอบของ สกพอ. จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีเหตุผล และความจำเป็น ที่กองทัพเรือ จะต้องเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ และผูกพันตั้งแต่ปี 2567-2570 จึงออกแถลงการณ์ไปเรียกร้องให้นายสุทิน ตรวจสอบโครงการนี้อย่างเคร่งครัด หากทหารเรือมีความจริงใจจริง ก็อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการกู้เงิน” นายเอกราช กล่าว
นายเอกราช กล่าวว่า สื่อมวลชนสามารถเปิดไปดูข้อมูลที่ธนาคาร AIIB ได้ และค้นหาโครงการนี้จะเห็นว่าขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้อนุมัติวงเงินให้กับประเทศไทย ขอยืนยันว่าหากกองทัพเรือยัง รับผิดชอบโครงการนี้ แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศก็อาจจะไม่อนุมัติให้ สุดท้ายก็จะเป็นภาระงบประมาณ ของประเทศไทยในปีถัดๆ ไปมากยิ่งขึ้น – 313.-สำนักข่าวไทย