ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนยกฟ้อง “สุเทพ” คดีฮั้วประมูลสร้างโรงพัก

ศาลฎีกาฯ 22 ส.ค.- ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนยกฟ้อง “สุเทพ” และพวก คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท


ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อม.อธ.11/2565 ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ หรือ “โรงพักทดเเทน” และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจ 396 แห่ง ซึ่งสังคมรู้จักกันในชื่อ “คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง” มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท

คดีนี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำตัดสินชั้นต้นไปแล้ว โดยพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน แต่ต่อมา ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ และศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งนายสุเทพ เดินทางมาตามนัดฟังคำพิพากษา พร้อมนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ รวมถึงจำเลยคนอื่นๆ


ล่าสุด องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีคําพิพากษาว่า ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จําเลยที่ 1 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องพิจารณาว่ามติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ได้อนุมัติหลักการซึ่งรวมถึงวิธีการจัดจ้างโดยให้กระจายการจัดจ้างไปยังหน่วยงานในสังกัดในภูมิภาคด้วย อันมีผลผูกพันให้จําเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ องค์คณะฯ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 กําหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องกําหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบหรือมีมติในเรื่องใดให้ชัดเจน ถ้าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบหรือมีมติในเรื่องที่เสนอ ให้ถือว่ามติคณะรัฐมนตรีมีผลผูกพันเฉพาะหลักการแห่งประเด็นที่เสนอ เว้นแต่มติของคณะรัฐมนตรีจะระบุไว้ชัดเจนถึงรายละเอียดที่อนุมัติ แสดงว่ารายละเอียดข้อใดที่มติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนย่อมไม่ถือว่ามีผลผูกพัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมติคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 แล้ว ไม่มีข้อความระบุอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าจะต้องดําเนินการโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ซึ่งได้ความจากนาย ส. และนาย ธ. อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความว่ามติคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 7/2552 ไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้าง พยานทั้งสองปากมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนข้อความในมติคณะรัฐมนตรีตอนถัดไปที่ว่า “…โดยให้ดําเนินการตามความเห็นของสํานักงบประมาณ …” นั้น ย่อมหมายถึงความเห็นที่อยู่ในหน้าที่ของสํานักงบประมาณเท่านั้น นอกจากนั้น สํานักงานตํารวจแห่งชาติมิได้ขออนุมัติในเรื่องวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง และเลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเอง

กรณีนี้รับฟังได้ว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ ไม่รวมถึงวิธีการจัดจ้าง จําเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังที่โจทก์ฟ้อง และก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธผิดปกติวิสัยส่อแสดงว่าจําเลยที่ 1 ได้เข้าไปมีส่วนริเริ่มหรือใช้ให้เจ้าพนักงานเสนอความเห็นเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าแบบใดต่างก็เลือกดําเนินการได้และมีขั้นตอนประกาศเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมได้ ไม่อาจฟังดังที่โจทก์อ้างว่าการรวมการจัดจ้างไว้ที่ส่วนกลางจะทําให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเสมอไป ส่วนที่คณะกรรมการกําหนดราคากลางชุดใหม่ได้กําหนดราคากลางวงเงินจํานวน 6,388 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลางเดิมที่กําหนดในจำนวนประมาณ 6,100 ล้านบาท ก็ดีหรือผู้รับจ้างไม่สามารถดําเนนิการก่อสร้างตามโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายได้ก็ดี ล้วนแต่ไม่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 อีกทั้งจําเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าไปรับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทําของจําเลยที่ 1 ดังนั้น การกระทําของจําเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทําความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปว่า จําเลยที่ 2 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเมื่อมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งที่ 7/2552 เป็นการอนุมัติเฉพาะประเด็นเรื่องงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง จึงเป็นหน้าที่ของจําเลยที่ 2 ที่จะต้องดําเนินการไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยที่ 2 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเกิดจากข้อทักท้วงของผู้ปฏิบัติงานเองที่เสนอมาตามขั้นตอนปกติตั้งแต่ก่อนที่จําเลยที่ 2 จะมีการมอบหมายงานแล้ว จําเลยที่ 2 มิได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างมาตั้งแต่แรก และข้อทักท้วงของเจ้าหน้าที่พัสดุก็สอดคล้องกับที่กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือตอบข้อหารือ กรณีจึงมีเหตุผลและข้อมูลที่จําเลยที่ 2 จะเสนอให้จําเลยที่ 1 ให้ความเห็นชอบเช่นเดิม นอกจากนั้น แม้จําเลยที่ 1 จะเห็นชอบแล้ว ก็ยังต้องมีขั้นตอนการประกาศประกวดราคาต่อไป ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกัน 5 ราย และแข่งขันสู้ราคากันถึง 73 ครั้ง ฉะนั้นการที่จําเลยที่ 2 เสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียว จึงยังไม่ถึงขั้นใกล้ชิดต่อผลสําเร็จในการกําหนดตัวผู้รับจ้างล่วงหน้าหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นได้ เมื่อจําเลยที่ 2 มิได้กระทําการอื่นใดนอกเหนือจากไปนี้อีก พยานหลักฐานจากการไต่สวนจึงไม่ปรากฏว่า จําเลยที่ 2 มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ


ส่วนที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการกําหนดราคากลางชุดใหม่กําหนดราคากลางวงเงินสูงกว่าราคากลางเดิมนั้น ก็เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกําหนดราคากลางเอง และได้ความว่าเหตุที่ราคากลางสูงขึ้นเป็นผลมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนก่อสร้าง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการกระทําของจําเลยที่ 2 โดยเฉพาะจําเลยที่ 5 ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเดิม ราคากลางใหม่มิได้มีผลกระทบทําให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ส่วนที่ต่อมาผู้เสนอราคาไม่ดําเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนของการบริหารสัญญา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นกรณีเสนอราคาเป็นรายภาค หรือเป็นกรณีเสนอราคาทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียวก็ตาม คดีฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ การกระทําของจําเลยที่ 2 จึงไม่เป็นกระทําความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามระเบียบที่เกี่ยวข้องมิได้มีข้อกําหนดโดยชัดแจ้งให้คณะกรรมการประกวดราคามีหน้าที่ต้องพิจารณารายละเอียดและราคาต่อหน่วยของวัสดุแต่ละรายการที่ปรากฏในบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา สําหรับเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาจากราคารวมเป็นสําคัญ คดีนี้เมื่อพิจารณาจากราคารวมแล้วปรากฏว่าจําเลยที่ 5 เสนอราคารวมเป็นเงิน 5,848 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท ฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 5 เสนอราคาต่ำจนถึงขั้นคาดหมายได้ว่าจะไม่อาจดําเนินงานตามสัญญาได้ นอกจากนั้น โจทก์คงกล่าวหาว่าบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง (BOQ) ของจําเลยที่ 5 มีรายการผิดปกติเพียงรายการเดียวคือ รายการเสาเข็มมีราคาต่ำ ลําพังเฉพาะราคาเสาเข็มรายการเดียวยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จําเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องเสนอไม่รับราคารวมทั้งหมดของจําเลยที่ 5 แม้จําเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้นําเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างเสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่ก็ไม่มีข้อพิรุธประการใดว่าจะเป็นการปกปิดเพื่อเอื้อประโยชนแก่จําเลยที่ 5 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ

ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเหตุให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติหักค่าเสาเข็มได้น้อยกว่าราคาที่แท้จริงนั้น ไม่ปรากฏว่าโดยปกติทั่วไปผู้ประกอบการจะคํานึงถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่ในชั้นยื่นเสนอราคา จึงไม่อาจฟังได้ว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาวางแผนเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่จําเลยที่ 5 นอกจากเรื่องราคาเสาเข็มแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่ามีการกําหนดตัวจําเลยที่ 5 ไว้เป็นผู้รับจ้างล่วงหน้า หรือสมรู้ร่วมคิดกันกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่จําเลยที่ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญาโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือสั่งการให้เลือกจําเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการเสนอราคาโดยเฉพาะเจาะจง อันจะเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่ไต่สวนมาฟังไม่ได้ว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 กระทําความผิดตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาสุดท้ายว่า จําเลยที่ 5 และที่ 6 กระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจําเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนจําเลยที่ 3 และที่ 4 ในการกระทําความผิด เมื่อคดีนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 กระทําความผิดดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจําเลยที่ 5 และที่ 6 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และอุทธรณ์จําเลยที่ 2 อีกต่อไป เพราะไม่อาจทําให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้ พิพากษายืน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

พ่อช็อก ลูกสาวเสียชีวิตเหตุเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์

พ่อช็อก น้ำตาคลอรู้ข่าวลูกสาวเสียชีวิตเหตุเครื่องบินเชจูแอร์ ไถลออกนอกรันเวย์ เผยเป็นลาง ลูกยื่นเงินหมื่นให้พ่อจ่ายเงินฌาปนกิจศพให้ตัวเอง

Jeju Air CEO apologises for plane crash at airport in South Korea

ซีอีโอเชจูแอร์ขอขมาผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินชน

โซล 29 ธ.ค.- ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ (CEO) ของสายการบินเชจูแอร์ (Jeju AIr) ขอขมาต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินชนรั้วกั้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 124 คน จากจำนวนคนบนเครื่องบินทั้งหมด 181 คน นายคิม อีแบ ซีอีโอเชจูแอร์ แถลงต่อสื่อสั้น ๆ ว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและขอขมาต่อผู้โดยสารที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุครั้งนี้ รวมถึงครอบครัว บริษัทจะแก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็วและให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้โดยสาร นอกจากนี้จะพยายามอย่างเต็มที่ในการหาสาเหตุร่วมกับรัฐบาล นายคิม กล่าวว่า บริษัทให้บริการเครื่องบินลำนี้โดยได้มีการซ่อมบำรุงตามปกติ และไม่พบสัญญาณใด ๆ ว่าเครื่องบินมีความผิดปกติ เชจูแอร์เป็นสายการบินต้นทุนต่ำของเกาหลีใต้ที่ตั้งขึ้นในปี 2548 ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และไทย และมีเที่ยวบินในประเทศจำนวนมาก ด้านโบอิง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐ แถลงว่า กำลังประสานกับเชจูแอร์ กรณีเครื่องบินโบอิง 737-800 แบบ 2 เครื่องยนต์ เที่ยวบิน 7ซี2216 (7C2216) ชนที่ท่าอากาศยานทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ และพร้อมให้ความช่วยเหลือสายการบิน ขณะที่กระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ ระบุว่า เครื่องบินลำนี้ผลิตในปี 2552 […]

ข่าวแห่งปี 2567 : สุดอาลัย…ดาวลับฟ้า ปี 2567

ตลอดปี 2567 นับเป็นปีที่สูญเสียบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งในแวดวงบันเทิง ศิลปินแห่งชาติ และวงการสื่อสารมวลชน ที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ